วันนี้ (30 ก.ย.2565) เป็๋นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี หรือ ไม่ หลังฝ่ายค้านยื่นให้วินิจฉัยในกรณีดังกล่าว
หากคำวินิจฉัยออกมาในทางบวก พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะกลับมาดำรงตำแหน่ง นายกฯ ต่อไป แต่หากผลออกมาในทางลบ ก็จะนำไปสู่กระบวนการสรรหานายกคนใหม่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะทำหน้าที่ รักษาการนายกต่อไป จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกนายกฯคนใหม่ ในรัฐสภา ตามมาตรา 159 โดยนัดประชุมรัฐสภา ดังนี้
1.ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล มาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ กับ กกต.
โดยเลือกเฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน หรือ มี ส.ส. 25 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ แคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ตั้งแต่ช่วงของการเลือกตั้งปี 2562 ทางฝั่งของพรรคเพื่อไทย มี 3 ชื่อคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ
ทางฝั่งของรัฐบาล มีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่ถูกเสนอโดย พรรคภูมิใจไทย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์
2.การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในรัฐสภา ตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมี ส.ส.ทำหน้าที่อยู่ 478 คน ดังนั้นจะต้องมี ส.ส.รับรอง 48 คน
ขณะที่มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาฯ
3.ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง กำหนดเพิ่มว่า หากไม่สามารถเลือกนายกฯในบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองได้ สมาชิกทั้ง 2 สภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง
จากนั้นเมื่อรัฐสภาจะต้องมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้สภาเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือ นอกบัญชีพรรคการเมืองก็ได้ แล้วค่อยดำเนินการเลือกนายกฯ ต่อไป