เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 YouTube ประเทศไทย จัดงานใหญ่ประจำปี “Brandcast & YouTube Works Awards 2022” อัปเดตเทรนด์ล่าสุดบน YouTube ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ โดยปัจจุบัน ผู้คนนิยมรับชม YouTube บนหน้าจอทีวีกันมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของ YouTube พบว่าในเดือน พ.ค.2565 มีผู้คนมากกว่า 12 ล้านคนในไทยที่รับชม YouTube บนหน้าจอทีวี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้คำนิยามของทีวีสำหรับคนไทยนั้นเปลี่ยนตามไปด้วย โดย 75% ของผู้ชมชาวไทยมองว่า YouTube คือ “ทีวี” เมื่อรับชมบนหน้าจอทีวี
นอกจากนี้ YouTube ยังได้กลายเป็นจุดหมายของการเลือกซื้อสินค้า โดยกว่า 9 ใน 10 ของผู้ชมชาวไทยยอมรับว่าใช้ YouTube ในการช็อปปิ้งและเลือกดูสินค้า ซึ่งตอนนี้ก็มีวิธีใหม่ ๆ ที่ทำให้นักช็อปสามารถซื้อสินค้าและบริการบน YouTube ได้
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจล่าสุดของ Ipsos พบว่า YouTube คือแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่คนไทยจะคิดถึงมากที่สุดหากไม่มีให้ใช้งานอีกต่อไป โดยเฉพาะผู้ใช้รุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มักจะใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยี 87% ของคนไทยมองว่าคอนเทนต์บน YouTube มีคอนเทนต์ที่โดนใจที่หาดูไม่ได้จากที่อื่น
ปัจจุบัน ระบบนิเวศของ YouTube ในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีครีเอเตอร์สร้างสรรค์คอนเทนต์มากขึ้นกว่าเคย โดยมีจำนวนชั่วโมงของคอนเทนต์ที่ถูกอัปโหลดบน YouTube เพิ่มขึ้นมากถึง 50% ในขณะที่มีช่องที่มีผู้ติดตามทะลุ 1 ล้านคนรวมกว่า 750 ช่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20% ซึ่งการเติบโตนี้สะท้อนถึงเนื้อหาที่หลากหลายและความคิดสร้างสรรค์ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ช่องโทรทัศน์เจ้าใหญ่ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลในวงการโทรทัศน์ โปรดักชันเฮาส์ ค่ายเพลง ศิลปิน และครีเอเตอร์ทั่วประเทศอีกด้วย
เทรนด์สำหรับเหล่าครีเอเตอร์สายวิดีโอ
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวว่า จากการสำรวจของ Ipsos พบว่า 95% ของคนไทยระบุว่า YouTube เป็นที่แรกที่พวกเขาเข้ามาหาเมื่อต้องการดูอะไรสักอย่าง ในขณะที่ 94% รู้สึกว่า YouTube สามารถแนะนำวิดีโอที่พวกเขาควรดูได้ดีมากที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อเจาะกลุ่ม Gen Z (เกิดปี 1998 - 2012) จะพบว่า 85% ของกลุ่ม Gen Z เคยโพสต์วิดีโอมาก่อน และ Meme กลายเป็นกระแสที่กำหนด Culture จนแบรนด์หลายรายกระโดดเข้าใส่เพื่อสร้างการเข้าถึง โดย 65% ของคน Gen Z ดูคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจ และ 50% ดูคอนเทนต์ที่คนอื่นไม่ดู
3 Trend สร้างวิดีโอให้คนดู
1.Community Creativity คือการสร้างคอนเทนต์สำหรับคนในกลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกัน เช่น คลิปตกปลา คลิปเต้น คลิปปลูกผัก คลิปเกมเมอร์ หรือคลิปและไลฟ์สตรีมมิงภาพขณะเครื่องบินขึ้น-ลง ซึ่งมียอดวิวสูงถึงหมื่นล้านวิว
Fandom เป็นอีก Community ที่กลายเป็นศูนย์กลางคอนเทนต์ 61% ของคนจะยกมือยอมรับว่าตัวเองเป็น Bigfan ของอะไรสักอย่าง นำไปสู่การสร้างคอนเทนต์จากแฟน ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่เหล่าแฟนอยากดู และขยายฐานคนติดตามไปในกลุ่มใหม่ ๆ จนเกิดแมสขึ้นมา เช่น แฟนคลับของ #BrightWin ที่เหล่าแฟนคลับจากหลายประเทศมีการทำคลิปเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ของศิลปินจนทำให้คนรู้จักเป็นวงกว้าง
Professional Fan คือ คนที่เป็น Bigfan ของสิ่งต่าง ๆ หันมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง เช่น คนชอบบ้าน คอนโดฯ รถ ก็สามารถทำคอนเทนต์รีวิว เปรียบเทียบ หรือให้ข้อมูลได้
Video Essay เนื้อหายาวเป็นอีก Community ที่คนติดตามและรับชมเพิ่มขึ้น แม้วิดีโอจะมีความยาวเกิน 1 ชั่วโมง โดยวิดีโอกลุ่มนี้ไม่ได้มีเฉพาะคอนเทนต์เพื่อการเรียนรู้เท่านั้น แต่คอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ก็สามารถทำวิดีโอประเภทนี้ได้
Fan Funding วิดีโอคอนเทนต์ที่ผลิตมาเพื่อ Membership only เป็นอีกฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยม และได้รับการสนับสนุนจากคนดูอย่างเห็นได้ชัด สำหรับช่องที่มีฐานแฟนคลับและคนติดตาม เช่น ช่อง Vtuber หรือ ช่องข่าว เป็นต้น
2.Response Creativity 83% ของคนดูคอนเทนต์ต้องการชมเนื้อหาที่ช่วยให้ผ่อนคลาย แก้เหงา และให้อยู่เป็นเพื่อน โดย ASMR เรียกว่าเป็น ครีเอเตอร์กลุ่มบำบัด ซึ่งเป็นเนื้อหาที่มีมาตั้งแต่ปี 2017 แต่กลับได้รับการค้นหาและดูเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมแล้วมียอดวิวถึง 6.5 หมื่นล้านวิว
นอกจากนี้ คอนเทนต์ที่ชวนให้ระลึกถึงความทรงจำวันเก่า ๆ เทรนด์ในอดีต และคอนเทนต์สยองขวัญ ยังคงเป็นคลิปที่ได้รับความนิยมเช่นกัน
3.Multi-Format 59% ของ Gen Z มองว่า ฟีเจอร์ Shorts วิดีโอสั้นแนวตั้ง ทำให้ได้รู้อะไรใหม่ ๆ สถิติล่าสุดพบว่ามีคนเข้าชมคลิป Shorts แล้ว 3 หมื่นล้านวิว ซึ่งมีครีเอเตอร์บางช่องเริ่มใช้ Shorts สำหรับการโปรโมตเพื่อ "ตีหัวเข้าบ้าน" ให้คนดูมารับชม Full Viedo หรือไลฟ์ได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คนดูไฮไลต์วิดีโอคอนเสิร์ตจาก Shorts ก่อนที่จะกดเข้าช่องเพื่อกลับไปดูคอนเสิร์ตหรือ MV ฉบับเต็ม นับเป็นโอกาสให้คนได้เห็นคอนเทนต์ทุกรูปแบบมากขึ้น
Shorts มาตอกย้ำว่า คอนเทนต์วิดีโอไม่ใช่ Only Long Format อีกต่อไป และวิดีโอ MultiFormat หรือจากทุกแพลตฟอร์มจะทำงานร่วมกันเพื่อทำให้คอนเทนต์แมสได้
อย่างไรก็ตาม YouTube ตอกย้ำการให้ความสำคัญกับ YouTube Shorts ด้วยการประกาศว่าจะเปิดให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้จากวิดีโอสั้นแนวตั้งได้ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ตามยอดวิวในปี 2023 ซึ่งจะมีรายละเอียดและเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจนออกมาอีกครั้ง
YouTube Works Awards
อีกหนึ่งไฮไลต์ภายในงาน “Brandcast & YouTube Works Awards 2022” คือการประกาศผลผู้ชนะรางวัล “YouTube Works Awards” ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมและยกย่องชิ้นงานโฆษณาที่โดดเด่นและสร้างความสำเร็จทางธุรกิจจากแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ในประเทศไทย สำหรับปีนี้แบรนด์ต่างๆ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดใน 7 ประเภทด้วยกัน โดย GrabPay Wallet สามารถคว้ารางวัลไปถึง 3 รางวัล ได้แก่ Grand Prix, Action Driver และ Best Full Funnel จากแคมเปญ Dear Homosapiens ที่ทะลายความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับการใช้งานผลิตภัณฑ์ e-wallet ผ่านการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน ผนวกกับการวางแผนสื่อที่ใช้จุดเด่นของ YouTube ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด และตอบโจทย์ทางการตลาดแบบ full funnel ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์ กระตุ้นการตัดสินใจ ไปจนถึงการสมัครใช้งาน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกาศจัดกิจกรรม "YouTube Shorts Activation" เป็นครั้งแรกในไทย โดยร่วมกับศิลปินชื่อดังในการเปิดตัวผลงานเพลงชิ้นใหม่ผ่านทาง YouTube Shorts ที่เป็นการสร้างสรรค์วิดีโอแบบสั้น ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและดึงดูดความสนใจได้มากยิ่งขึ้น