วันนี้ (28 ก.ย.2565) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อร้องเรียน กรณีป้ายต้อนรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ไปปฏิบัติราชการที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งปรากฏรายชื่อ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครบนป้ายด้วยว่า กกต.ได้รับข้อร้องเรียน และตรวจสอบป้ายต้อนรับ ดังกล่าวแล้ว ส่วนตัวขอยังไม่วินิจฉัย
แต่เบื้องต้น ข้อห้ามหรือกฎเหล็ก 180 วันก่อนหาเสียงเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร ในวันที่ 25 ก.ย.และได้นำป้ายลงในวันที่ 26 ก.ย.แต่ก็ยังมีบางป้ายของบางพรรคการเมืองยังไม่เอาลง
ทั้งนี้ กฎหมายมีข้อกำหนดเงื่อนเวลาให้ ผอ.กกต.จังหวัด แจ้งนำป้ายลง ภายใน 5-7 วัน และแก้ไขให้ถูกซึ่งกรณีป้าย พล.อ.ประวิตร ได้ปลดลงแล้ว ก่อนที่ กกต.จะออกหนังสือแจ้งไป ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากที่เคยยกตัวอย่างป้ายขอบคุณที่ จ.นครราชสีมา ที่ไม่มีผู้นำป้ายลง กกต.จึงนำลงเองซึ่งทั้งหมดมีกระบวนการอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ รัฐมนตรีลงพื้นที่ช่วยอุทกภัย ถูกวิจารณ์เรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบรัฐมนตรีนั้น เลขาธิการ กกต.ย้อนถามว่า จะให้ทำอย่างไร เพราะใครเป็นรัฐบาลก็ต้องทำเช่นนี้ เป็นหน้าที่ในการดูแลประชาชน กกต.ไม่มีอำนาจห้ามไม่ให้ลง แต่ลงไปแล้วอย่าไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กกต.ไม่สามารถคลายล็อกความเข้มข้นของกฎเหล็ก 180 วันได้ ตามที่ ส.ส.ร้องขอเพราะไม่สามารถลงพื้นที่ช่วยประชาชนโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เดือดร้อนจากพายุโนรูได้
แต่ย้ำว่า การลงพื้นที่ของ ส.ส.ไปเยี่ยม พูดคุย สามารถทำได้อยู่แล้ว เหมือนการหาเสียง แต่อย่าไปให้ทรัพย์สิน ให้เงินทอง หรือถุงยังชีพ ที่มีมูลค่า ซึ่งคือการไม่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กกต.ไม่สามารถยกเว้นกฎหมายได้ และเมื่อปี 2562 ก็ใช้เกณฑ์เดียวกัน โดยการหาเสียงสามารถพูดผลงาน นโยบายหาเสียง หาคะแนนนิยม ออกรายการวิทยุ ทีวี โดยไม่พูดจาใส่ร้ายบุคคลอื่นได้ ไม่ผิดกฎหมาย
นายแสวง ระบุว่า กกต.ยังไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วได้เพราะกฎหมายลูก 2 ฉบับยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงไม่มีอำนาจแบ่งเขต พร้อมยืนยัน กกต.ไม่หนักใจ และต้องชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ หลายครั้ง หรือ ถูกตั้งข้อสงสัยการทำหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมือง หรือ หรี่ตาเช่นกรณีของ พล.อ.ประวิตร โดยย้ำว่า กกต.ดำเนินการตรวจสอบอยู่