วันนี้ (4 ต.ค.2565) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยแพร่ประกาศ ฉบับที่ 47/2565 ลงวันที่ 3 ต.ค.เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงวันที่ 3-9 ต.ค.2565 อิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน
ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ในช่วงวันที่ 3-9 ต.ค.2565 ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน
โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลบ.ม.ต่อวินาที สำหรับการปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร
และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร
ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที และส่งผลให้เกิดน้ำอัดเท้อไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อยทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำโดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำ เต็มความจุแล้ว และมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก จ.ชัยนาท ถึง จ.สมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที
จะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
2.เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง หน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด ตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลา ที่สามารถรองรับได้
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขต จ.ชัยนาทและอุทัยธานีให้เตรียมป้องกันน้ำระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่
4.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า