แรงงานร้องรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท จี้เลิกค่าจ้างแบบแบ่งเขตเพราะไม่เท่าเทียม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 360 บาททั่วประเทศ ระบุเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากคงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มาตั้งแต่ปี 2554 พร้อมจี้เลิกค่าจ้างแบบแบ่งเขตแบ่งจังหวัด
วันนี้ (25 มิ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายแรงงาน ในนามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเดินทางมายังลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และเรียกร้องให้ รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จาก 300 บาท เป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ พร้อมคัดค้านการปรับค่าจ้างแบบแบ่งเขต หรือตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้แรงงานต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะต้องทำงานมากขึ้น และแรงงานบางส่วนต้องประสบปัญหาหนี้สิน จากการสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของแรงงาน พบว่าค่าจ้างที่เหมาะสมและเพียงพออยู่ที่ 360 บาท จึงหวังว่าในการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างครั้งต่อไป จะมีมติปรับค่าจ้างตามอัตราที่เรียกร้องในปี 2559
นอกจากนี้ ยังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับค่าจ้างแบบแบ่งเขต หรือตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด เพราะลูกจ้างบางจังหวัด ไม่มีสหภาพแรงงาน จึงไม่มีอำนาจการต่อรองค่าจ้าง เกิดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างที่แตกต่างกัน ซึ่งหลังจากนี้จะติดตามการพิจารณาค่าจ้างของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ดำเนินการปรับค่าจ้างตามที่เรียกร้อง จะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ภายหลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประกาศเจตนารมณ์แล้ว ได้เคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังกองอำนวยการร่วมรับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ