กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2565 พรากชีวิตคนจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ทำให้วันต่อมา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ออกจดหมายเปิดผนึก "จากหัวใจชาวสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล" เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ทั้งพื้นที่ภายในบ้านและนอกบ้าน
พร้อมระบุข้อมูลอ้างอิงจากสถิติสาธารณสุข ปี 2560-2563 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ว่า ตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีอัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง และเมื่อปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดน้อยกว่าการตายเป็นครั้งแรก
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2563 มีเด็กไทยอายุ 0-4 ปี เสียชีวิตไปแล้ว 19,304 คน, เด็กอายุ 5-9 ปี เสียชีวิต 4,454 คน และเด็กอายุ 10-14 ปี เสียชีวิต 6,766 คน เฉลี่ยปีละ 7,631 คน
ขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี เสียชีวิตจากสาเหตุภายนอกที่ไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วย ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุและการถูกทำให้เสียชีวิต มีจำนวน 2,203 คน (จากจำนวนเด็กที่เสียชีวิต 19,304 คน)
และหากรวมจำนวนเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 5-14 ปี ซึ่งมี 11,220 คน ในจำนวนนี้พบว่ามีเด็ก 5,612 คน เสียชีวิตจากสาเหตุภายนอกที่ไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วย
ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าสังคมไทยปลอดภัยและเกื้อกูลเพียงใด สำหรับการมีลูกและสร้างครอบครัว สังคมไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเกินไปหรือไม่ สำหรับเด็กที่จะเติบโตขึ้นมา เพื่อดูแลประเทศชาติต่อไปในอนาคต