วันนี้ (11 ต.ค.2565) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังคงสูงข้อมูลสถานการณ์น้ำท่า มีดังนี้
- แม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,054 ลบ.ม.ต่อวินาที
- เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,164 ลบ.ม.ต่อวินาที
- แม่น้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำ 900 ลบ.ม.ต่อวินาที ท้ายเขื่อนพระรามหก ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,038 ลบ.ม.ต่อวินาที
- แม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,090 ลบ.ม.ต่อวินาที
ส่วนปี 2554
- แม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา 4,236 ลบ.ม.ต่อวินาที (สูงสุดอยู่ที่ 4,686 ลบ.ม.ต่อวินาที วันที่ 13 ต.ค.2554)
- เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณระบายน้ำไหลผ่าน 3,703 ลบ.ม.ต่อวินาที (สูงสุดอยู่ที่ 3,721 ลบ.ม.ต่อวินาที วันที่ 21 ก.ย. 2554)
หากถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ระดับน้ำจะท่วมหนักเท่ากับปี 2554 นักวิชาการระบุว่า ไม่มีความเป็นไปได้ที่น้ำจะท่วมหนักเท่าปี 2554 เพราะขณะนี้ภาคเหนือ ฝนลดลงหมดแล้ว เหลือแค่การระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งหลังจากนี้คือการเร่งระบายน้ำลงอ่าวไทย
ยันบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยา
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ถึงการจัดการน้ำในท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในระดับทรงตัว คือสูงสุดของการระบายน้ำลงมา 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาที
ส่วนน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาปี 2554 มากกว่าปีปัจจุบัน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนปริมาณฝนตกสะสมปี 2565 น้อยกว่าปี2554 ประมาณ 10 มิลลิเมตร และมากกว่า 2564 ถึง 300 มิลลิเมตร
เลขาธิการ สทนช.ระบุว่า ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงเวลาเดียวกันยังห่างกัน ขณะนี้มีการการระบายน้ำออกฝั่งซ้ายขวาของลุ่มเจ้าพระยา แต่ต้องดูผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำด้วย เพราะบางจังหวัดมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
ปริมาณน้ำที่ระบายลงมา 3,100 ลบ.ม.ต่อวินาทีจะเป็นแบบนี้สักระยะ และถ้าน้ำเหนือเขื่อน จึงจะลดปริมาณการระบายน้ำลง เหตุที่ต้องระบายแบบนี้ เพราะระดับระดบน้ำเหรือเขื่อนที่กำหนดไว้ว่าระดับต้องไม่เกิน 78 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ถ้าเกินกว่าจะกระทบกับความมั่นคงของเขื่อน หากพังขึ้นมาจะควบคุมน้ำไม่ได้เลย และน้ำจะไหลลงมาในพื้นที่ด้านล่างถึงปทุมธานี กทม.
ส่วนการผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำเจ้าพระยาตอนนี้ รองรับได้ 300 ล้านลบ.ม. ระบายลงได้ 80% ส่วนจ.สิงห์บุรี น้ำท่วมขังส่วนหนึ่งมาจากมีฝนตกในในพื้นที่และน้ำที่ไหลจากคันกั้นน้ำไปสมทบกัน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
ขณะที่กรมชลประทาน กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งได้จัดชุดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำผ่านระบบชลประทานต่าง ๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง