ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รายงานพิเศษ: พฤติกรรมฆาตกรรมหมู่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ-แนะข้อเสนอป้องกันอย่างยั่งยืน

สังคม
12 ต.ค. 65
10:46
319
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ: พฤติกรรมฆาตกรรมหมู่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ-แนะข้อเสนอป้องกันอย่างยั่งยืน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักจิตแพทย์ ระบุ คนที่เจ็บป่วยทางจิต ขวนขวายหาวิธีรักษาแผลใจด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ปัญหายาเสพติด และอาชญากรรม ขณะ สภาวิชาชีพสื่อ แนะรัฐเร่งลงทุนเพิ่มศักยภาพของกรมสุขภาพจิตรับมือกับอาการป่วยทางจิตใจของคน ควบคู่มาตรการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้ประชาชน

ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องปัญหายาเสพติด การครอบครองอาวุธปืน การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

นับเป็นเรื่องที่ดีแต่เป็นประเด็นปลายเหตุที่ไม่อาจแก้ไขป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน พฤติกรรมฆาตกรรมหมู่ของผู้ก่อเหตุนั้นเกิดจากปัญหาทางจิตใจ

นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลไทยนครินทร์ โพสต์ข้อความบน Facebook ของท่านตอนหนึ่งว่า "มนุษย์ที่เจ็บป่วยทางจิตจำนวนมากจึงแอบซ่อนความเจ็บป่วยนั้นไว้ ได้แต่ขวนขวายหาวิธีรักษาแผลใจด้วยตัวเอง ซึ่งเขาก็มักจะทำได้แค่วิธีกินแค่ยาแก้ปวด หลายท่านอาจสงสัยว่ามันมียาแก้ปวดของจิตใจด้วยเหรอ...มีครับ และเราทุกคนรู้จักมันดี

ยาเสพติดทุกชนิด...คือยาแก้ปวดทางใจรูปแบบนึง และการติดยาเกือบทั้งหมด เกิดจากมนุษย์พยายามเยียวยาจิตใจของตัวเอง ไม่มีคนติดยาคนไหนไม่รู้ว่ายาเสพติดนั้นมีพิษภัย คนติดยาทุกคนรู้ด้วยว่ายาเสพติดนั้นมีคุณสมบัติพื้นฐานที่เป็นโทษที่สุดอยู่ 1 อย่าง คือมันทำลายสติของเรา สติ อันเป็นสิ่งทรงคุณค่าสูงสุดของการเป็นมนุษย์"

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ในฐานะคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิ์ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เสนอแนะต่อรัฐบาลว่า

รัฐบาลควรเร่งลงทุนเพิ่มศักยภาพของกรมสุขภาพจิตให้สามารถรับมือกับอาการป่วยทางจิตใจของคนพร้อมกันกับเร่งมาตรการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ประชาชน ด้วยการทุ่มงบประมาณพัฒนาให้กรมสุขภาพจิตเกิดศักยภาพในการ

1.สร้างระบบจำแนกคัดกรองระดับชุมชน (ด้วยการใช้ อสม.) เพื่อดึงผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมารับการบำบัด มีหน่วยงานบำบัดรองรับที่เพิ่มการทำ (กิจกรรม) จิตบำบัด พัฒนานักจิตบำบัดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่สามารถนำผู้ป่วยทำกิจกรรมบำบัด

โดยดึงครอบครัวและชุมชน รวมทั้งสถานศึกษาถ้ายังอยู่ในวัยเรียน มีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเพาะพันธุ์นักจิตบำบัด หรือ Psychological Therapist ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์ที่สามารถลงไปทำงานด้านจิตบำบัดร่วมกับครอบครัวชุมชน

ทั้งนี้จิตแพทย์ต้องสามารถวิเคราะห์พยาธิสภาพทางจิตของผู้ป่วยเพื่อนำมาใช้ออกแบบกิจกรรมบำบัด หากผู้ป่วยต้องกินยาขณะขณะอยู่บ้าน ต้องมีบุคลากรเช่น อสม.ติดตามดูแลให้กินยาตามแพทย์สั่งและพาผู้ป่วยมาทำกิจกรรมทำจิตบำบัดและสามารถดึงครอบครัว ชุมชนและสถานศึกษา(หากยังอยู่ในวัยเรียน)เข้ามามีส่วนร่วม

2.รับเรื่องส่งต่อจาก อสม. ที่ค้นพบผู้ต้องการความช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษา (Counseling) ปัญหาครอบครัว ไม่ให้คนต้องพึ่งยาเสพติดที่มีฤทธิ์ทำลายสมองจนอาจเกิดความคลุ้มคลั่งใดๆ จัดให้มีผู้ให้คำปรึกษาแนะนำไม่ว่าจะเป็น Social counselors และ Psychological counselors ให้กระจายอยู่ในเขตอำนาจของทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในครอบครัวและเป็นที่พึ่งทางใจให้ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ช่วยฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ตนเองสามารถยับยั้งชั่งใจไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น หากรู้ตัวว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองให้สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

3.จัดกิจกรรมป้องกัน เช่น ช่วยฝึกหรือเสริมทักษะในการจัดการปัญหา ทักษะในการแก้ไขความขัดแย้ง ทักษะในการคลายเครียด ทักษะเลี้ยงลูก ทักษะในการบริหารรายได้รายจ่ายการออมการลงทุน การบริหารหนี้ ตั้งเป้าหมายชีวิตและการพัฒนาตนเอง ฯลฯ

ฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และฝึกทักษะในการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หากไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนได้

4. เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์นันทนาการต่างๆ สำหรับครอบครัวและชุมชน กระจายตัวให้ครอบคลุมอยู่ในทุกเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนและครอบครัวในเขตอำนาจของตนทำกิจกรรมสร้างสรรค์สันทนาการต่างๆเป็นระยะๆ

ทั้งนี้มาจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า "จิตกำหนดกาย (พฤติกรรม)"

นอกจากนั้นหน่วยงานราชการต้องเปลี่ยนระบบบริหารราชการ จากการออกคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงาน มาเป็นการประชุมปรึกษาหารือวางแผนงานร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาจ่ายงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาตามแผนงานโดยสอดสอดคล้องกับภาพของผู้ใต้บังคับบัญชา

หากผู้ใต้บังคับบัญชาบกพร่องในหน้าที่ กำหนดแผนแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้วิธีดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษ หากแก้ไขไม่สำเร็จมอบหมายให้ทำหน้าที่อื่น หากทำไม่ได้ก็ควรปลดออกจากราชการโดยไม่ต้องตำหนิว่ากล่าว แต่ชี้แจงเหตุผล

ทั้งนี้หากผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการใดๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยไม่เอื้อต่อประโยชน์ของทางราชการ เฉพาะอย่างยิ่งสั่งให้กระทำการละเมิดกฎหมาย ระเบียบหรือคำสั่งของทางราชการ เมื่อถูกตรวจสอบก็โยนบาปให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่กดดันให้ลูกน้องเกิดความเครียดหรือเจ็บป่วยทางจิต จนถึงขั้นก่ออันตรายให้แก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากนั้นในส่วนราชการที่เรียกว่ากองการเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายบุคคลของหน่วยงานราชการ ควรมีผู้ทำหน้าเป็น Social counselors และ Psychological counselors

ข่าวที่เกี่ยวข้อง