ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กต.แจงเหตุผลไทย “งดออกเสียง” มติ UN ประณามรัสเซียผนวกยูเครน

ต่างประเทศ
13 ต.ค. 65
14:27
2,263
Logo Thai PBS
กต.แจงเหตุผลไทย “งดออกเสียง” มติ UN ประณามรัสเซียผนวกยูเครน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเหตุผลกรณีประเทศไทย “งดออกเสียง” ลงมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามรัสเซียผนวกรวมดินแดน 4 ภูมิภาคของยูเครน

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 35 ประเทศที่ “งดออกเสียง” ในการลงมติประณามความพยายามของรัสเซีย ที่ผนวกรวมดินแดน 4 ภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งการงดออกเสียงของ “ประเทศไทย” ต่อมติดังกล่าว มีคำชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศ ดังนี้

1. ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจอธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญเสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ

ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่าจะคัดค้านการข่มขู่คุกคาม หรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่ง และการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ

2. อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสการทูต เพื่อแก้วิกฤตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริง เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก

3. ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดการแข็งขืน ไม่ยอมกัน และลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง

4. ประเทศไทยโศกเศร้าเสียใจกับการทำลายล้างทางกายภาพ ทางสังคมและทางมนุษยธรรมของยูเครน และความยากลำบากที่รุนแรง ซึ่งประชาชนชาวยูเครนต้องทนทุกข์ทรมาน ไทยจึงต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในโศกนาฏกรรมในยูเครนนี้ จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งพยายามเสาะหาสันติวิธีเพื่อจัดการกับความไม่ลงรอย โดยอิงกับความเป็นจริงที่ปฏิบัติได้และข้อห่วงกังวลจากทุกฝ่าย

ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิตนั้น เป็นเสาหลักที่สำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถึงทุกวันนี้สิทธิดังกล่าวได้ถูกพรากจากชาวยูเครนและประชาชนอีกหลายล้านคนทั่วโลก มันจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสูงสุดขององค์กรที่ได้รับความเคารพสูงสุดแห่งนี้ ในการนำสันติภาพและความปกติสุขของชีวิตกลับมาสู่ชาวยูเครน ไม่ใช่โดยการใช้ความรุนแรง แต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้นที่จะสามารถนำสันติสุขกลับมาได้จริงและโดยถาวร

ทั้งนี้ การลงมติประณามรัสเซียผนวก 4 ดินแดนของยูเครน มีประเทศสมาชิก UNGA จำนวน 143 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศ ออกเสียงสนับสนุนมติที่ระบุว่าความพยายามของรัสเซียนั้นผิดกฎหมาย ส่วนอีก 35 ประเทศงดออกเสียง และมี 5 ประเทศ (รวมถึงรัสเซีย) คัดค้านมติดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

UN ผ่านมติประณามรัสเซียผนวก 4 แคว้นยูเครน-ไทยงดออกเสียง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง