ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา คอซีรีส์เกาหลีคงจะได้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับการประกาศนักแสดงเพื่อสวมบทบาทเป็นตัวละครจากเว็บตูนหลายเรื่อง ทั้ง จูจีฮุน พระเอกดังจาก Kingdom ที่กำลังพิจารณารับบทนำในซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนแนวการแพทย์ชื่อดัง "Golden Hour ชั่วโมงโกงความตาย" หรือ คิมยองแด ที่กำลังพิจารณาบทนำซีรีส์โรแมนติกแฟนตาซีดัดแปลงจากเว็บตูน "The Moon that Rises During the Day”
นอกจากนี้ ชาอึนอู พระเอกไอดอลชื่อดัง เจ้าของฉายาเจ้าพ่อเว็บตูน ที่รับบทนำในซีรีส์ดังจากเว็บตูนทั้งเรื่อง True Beauty รวมถึงซีรีส์ที่กำลังถ่ายทำอย่าง Island ที่มาจากเว็บตูนชื่อเดียวกัน และเพิ่งเปิดตัวรับบทนำซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูน "The Villainess is a Marionette นางร้ายหุ่นเชิด" อีกด้วย
ล่าสุด Netflix ก็ประกาศข่าวการนำ "Lookism" เว็บตูนเกาหลีใต้ชื่อดัง ผลงานยอดอ่าน 8.7 พันล้านครั้งทั่วโลก เตรียมฉายเป็นซีรีส์แอนิเมชันในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งความร้อนแรงเหล่านี้ตอกย้ำความสำคัญของอุตสาหกรรมเว็บตูนในเกาหลีใต้ได้อย่างชัดเจน
"สุทธิชาติ ศราภัยวานิช" นักเขียนการ์ตูนยุค 90 ที่คอการ์ตูนไทยพันธุ์แท้ต้องรู้จักกับผลงาน JOE the SEA-CRET Agent หรือ โจ นักสืบหัวปลาหมึก บอกเล่าที่มาของเว็บตูนเกาหลีใต้กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "เว็บตูนเป็นวิวัฒนาการของคอมิกในยุคปัจจุบัน"
หลังได้รับอิทธิพลมาจากมังงะ (การ์ตูนเล่ม) ของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ที่มี "มันฮวา" ก็ได้พัฒนาการ์ตูนของตัวเองโดยจับจุดจากผู้คนในยุคปัจจุบันที่ใช้สมาร์ตโฟนกันมากขึ้น จึงคิดค้นรูปแบบการอ่านการ์ตูนบนสมาร์ตโฟนเน้นเลื่อนเป็นแนวตั้งเพื่อสะดวกกับการใช้มือข้างเดียว และเป็นการ์ตูนที่มีสี ต่างจากการ์ตูนเล่มในอดีตที่เป็นขาว-ดำ จนกลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการอ่านการ์ตูนที่เรียกว่า "เว็บตูน"
เกาหลีใต้เขาพัฒนาจากคนใช้สมาร์ตโฟนจนเกิดเป็นการ์ตูนแนวตั้ง และเป็นการ์ตูนที่ลงสีเพื่อสร้างอรรถรสให้นักอ่าน เท่าที่ได้ศึกษา เว็บตูนเป็นนวัตกรรมของเกาหลีใต้จริง ๆ ญี่ปุ่นก็ได้อิทธิพลจากเว็บตูนบ้าง แต่ก็ยังเน้นมังงะอยู่
นักเขียนเจ้าของผลงานดัง มองว่า สื่อสิ่งพิมพ์ของไทยถูก Disrupt ด้วยดิจิทัล ขณะเดียวกันไทยเองก็ไม่มีนโยบายสนับสนุนสื่อสิ่งพิมพ์ให้คงอยู่ เหมือนญี่ปุ่นหรือประเทศที่ยังพิมพ์หนังสือจำนวนมาก ส่งผลให้การ์ตูนเล่มไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก นักเขียนจึงต้องปรับตัวจากวาดลงกระดาษ ไปวาดบนคอมพิวเตอร์แทน
ตอนนี้คอมิกหดลง แต่ไปโตในเว็บตูน เพราะคนไทยเขียนกันเยอะ ลูกศิษย์ผมก็เขียนกันหลายคน รายได้สำหรับเรื่องที่ติดยอดนิยมก็ถึงหลักแสนต่อเดือน แต่งานก็ถือว่าหนักเพราะเป็นการ์ตูนสี ทุกสัปดาห์ต้องอัป รายได้ขนาดนี้ก็ต้องหักค่าจ้างผู้ช่วยด้วย
แม้ปัจจุบันใคร ๆ ก็สามารถเขียนเว็บตูนของตัวเองได้ แต่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีการเปิดการเรียนการสอนเฉพาะทางในด้านนี้มากขึ้น เพื่อให้ทันเทคโนโลยี และเป็นพื้นที่สำหรับความชอบของนักศึกษา ในฐานะอาจารย์คณะดิจิทัลอาร์ต สาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต แขนงวิชาดิจิทัลอิลลัสเตรชันและคอมิก (Digital Illustration and Comic) มหาวิทยาลัยรังสิต แนะนำว่า การเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี โดยเฉพาะสายศิลปะ คือพื้นที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสค้นหาลายเส้น เอกลัษณ์ของตัวเองให้เจอ หรือค้นหาตัวตนให้ชัด โดยไม่ต้องรีบทำเป็นวิชาชีพ แต่หากไม่ได้เรียน ก็อาจจะไม่มีโอกาสค้นหาตัวเอง และมุ่งไปสู่ตลาดทันทีเพื่อให้มียอดคนอ่านแทน
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย เว็บตูนที่ดีก็ยังเป็นงานที่เมื่อคนอ่านแล้วรู้สึกอะไรบางอย่างกับมัน อ่านแล้วมีความสุข อ่านแล้วลืมไม่ลง และสร้างความบันเทิงได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสกิล ประสบการณ์ชีวิตว่าใครคิดเรื่องราวได้ดีกว่ากัน แต่ส่วนตัวยังมองว่าเว็บตูนมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ในเรื่องของภาพแนวตั้งที่บางครั้งอาจถ่ายทอดเรื่องราวไปได้ไม่หมดเท่ากับภาพแนวนอนในคอมิก ซึ่งทั้ง 2 อย่างต่างก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน
เว็บตูนส่วนใหญ่คนเขียนจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ จึงเหมาะกับการสร้างเป็นซีรีส์มากกว่า แต่ญี่ปุ่นเป็นความหลากหลาย เป็นภาพในจินตนาการ คนอาจจะเล่นไม่ได้ทั้งหมด ก็เหมาะกับการ์ตูนอนิเมะมากกว่า
จากประสบการณ์สั่งสมมา "สุทธิชาติ" เชื่อว่า นักเขียนไทยที่กำลังสร้างขุมกำลังนักอ่านบนเว็บตูนจะเติบโตไปได้อีกไกล เพราะฝีมือคนไทยไม่ต่างจากนักเขียนเกาหลี เรียกได้ว่า บางเรื่องก็แทบแยกไม่ออก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือสกิล และเนื้อเรื่องที่จะสู้กันต่อไป ซึ่งในระยะสั้นการวาดให้เข้ากับตลาดก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อมีแฟนคลับแล้ว ระยะยาวก็สามารถหาเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองได้ต่อไป แต่ในใจของนักเขียนคนนี้ ก็ยังหวังว่าตลาดคอมิกในไทยจะยังก้าวต่อไปในยุคดิจิทัลได้เช่นกัน