ยังจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเป็นทั้งทางอ้อมและทางตรง เพราะถ้าไม่ใส่ลูกค้า ก็จะถามว่าทำไมถึงใส่ บอกไปว่าบางทีก็เหนื่อย แต่ลูกค้าบอกใส่ป้องกันฝุ่น ป้องกันโรคไปในตัว
หนึ่งในเสียงสะท้อนของประชาชนในกรุงเทพฯ ว่าการสวมหน้ากากอนามัยในช่วงนี้ ยังจำเป็นสำหรับพวกเขาหรือไม่ หลังพ้นช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปแล้ว
แม้ว่าการสวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้บังคับเหมือนกับช่วงการระบาดปีแรก แต่เป็นคำแนะนำให้สวมเมื่ออยู่ในที่แออัด และให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเอง และสำหรับบางคน การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นความเคยชินไปแล้วเมื่อต้องออกจากบ้าน
แม่ค้าขายพวงมาลัยคนนี้ บอกว่า บางครั้งเธอถอดหน้ากากอนามัยออกในระยะเวลาสั้นๆ เพราะหายใจไม่สะดวก หรืออากาศร้อน แต่เมื่อลูกค้าเห็น ก็จะบอกให้เธอสวมหน้ากาก อาชีพที่ต้องพบปะคนจำนวนมาก จึงทำให้เธอต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยกเลิกโทษปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกยกเลิกแล้ว แต่มีคำแนะนำให้สวม
หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วย หรืออยู่ในที่แออัด มีคนจำนวนมาก
"อนุทิน" ถอดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ
และคนที่ยืนยันความมั่นใจว่าโควิด19 ว่าคลี่คลายลงแล้ว คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ถอดหน้ากากอนามัยไปปรากฏตัวตามที่สาธารณะ เห็นใบหน้าเต็มๆ แบบนี้หลายวันแล้ว นายอนุทิน ให้ประชาชนพิจารณาตามความเสี่ยงของตัวเอง และการใส่หน้ากากอนามัยช่วยได้
คำถามคือ โควิด-19 ขาลง แต่ถ้าคนส่วนใหญ่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ลืมคำว่า New Normal ไปเลยได้หรือไม่ แพทย์ประเมินว่าอาจจะเร็วเกินไป อย่าลืมว่ายังมีโรคอื่นๆที่ต้องระวังอยู่
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าหลังจากผ่านโควิด-19 อาจจะเจอตัวอื่นๆ วงรอบอาจจะเร็วขึ้นเดิมอาจจะวงรอบ 5-10 ปี หลังจากนี้ต้องระมัดระวังและคนที่ป่วย และคงเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้นในสังคมไทย
ปลายปีนี้ ยังต้องเฝ้าระวังกันอีกระยะ ทั้งการระบาดเพิ่มของเชื้อสายพันธุ์ย่อย ที่เป็นตัวแปร จะส่งผลถึงยอดผู้ป่วยติดเชื้อเข้าโรงพยาบาล เสียชีวิต รวมทั้งการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นหรือไม่
ดังนั้นคงไม่ได้ความหมายว่า ตกลงแล้วหน้ากากจะปลดหรือใส่ต่อ แต่ยังต้องมองยาวถึงระบบรองรับทางสาธารณสุข ยา และการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ต้องพร้อมรองรับการระบาดที่อาจปะทุได้ทุกเมื่อด้วย