อีโบลา (Ebola) หรือ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
เป็นโรคติดต่ออันตรายของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต เกิดจากเชื้อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) พบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสก็จะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง นำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้
ไข้เลือดออก (Dengue Fever)
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา
อาการ
- อีโบลา แสดงอาการตั้งแต่วันที่ 2 หลังจากได้รับเชื้อไปจนถึงวันที่ 21 อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- มีไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยข้อต่อและกล้ามเนื้อ
- ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง
- ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง
เมื่อเวลาผ่านไป อาการมีความรุนแรงมากขึ้น เกิดเลือดออกในร่างกาย ทางตา หู จมูก ผู้ป่วยบางรายอาจอาเจียนหรือไอออกมาเป็นเลือด ท้องร่วงเป็นเลือด - ไข้เลือดออก มีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะแสดงอาการที่รุนแรงกว่า เช่น
- มีไข้สูงมาก ปวดศีรษะมาก
- ปวดเมื่อยข้อต่อและกล้ามเนื้อทั่วลำตัว
- มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว
- คลื่นไส้อาเจียน
อาจพบหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกาย ในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำลง
การติดต่อ
- อีโบลา แพร่จากการสัมผัสผิวหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้ออยู่แล้ว เช่น ลิง ลิงชิมแปนซี หรือค้างคาว และสามารถติดต่อกันจากคนสู่คนได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือสารคัดหลั่ง
- ไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเพศเมีย ดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ จากนั้นไวรัสเดงกี่จะเติบโตภายในท้องของยุงลาย เมื่อยุงลายไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสนี้ก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกกัดไปด้วย
การรักษา
- อีโบลา ยังไม่มียารักษา การรักษาเป็นการประคับประคองหรือควบคุมอาการ และโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก ต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลและต้องมีการแยกผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค
- ไข้เลือดออก ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด
ภาวะแทรกซ้อน
- อีโบลา การติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีโอกาสที่จะเสียชีวิตถึงร้อยละ 90 ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะที่สำคัญในร่างกายล้มเหลว เช่น มีเลือดออกอย่างรุนแรง เพ้อ ชัก จนกระทั่งขาดสติ
- ไข้เลือดออก สามารถพัฒนาความรุนแรงไปสู่ภาวะโรคไข้เลือดออกเดงกี่ ซึ่งจะทำให้มีไข้สูงขึ้น อาการปวดหัวรุนแรงขึ้น ภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน นำไปสู่การช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การป้องกัน
- อีโบลา ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันไวรัสอีโบลาได้ แต่ปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทางป้องกันที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อ
- ไข้เลือดออก ในประเทศไทย วัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกยังอยู่ในกระบวนการค้นคว้าทดลองอยู่ ดังนั้น วิธีการป้องกันจึงเน้นไปยังวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วยการดูแลตัวเอง
อ่านข่าวต่อ : สธ.คุมเข้มป้องกัน "อีโบลา" ผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา
ที่มา : Pobpad