การจัดการกับร่างกายมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วทำได้หลายวิธีตามความเชื่อและหลักทางศาสนา แต่วิธีการแบบเดิม ๆ ที่ใช้สารเคมีในการดองศพ และการเผาศพนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดไอเดียใหม่ที่เปลี่ยนการตายให้มีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและคนรุ่นหลังมากขึ้น ด้วยการฝังร่างให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นไม้ ลดโลกร้อนและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้
บริษัทสตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนียให้บริการจัดการศพแนวคิดใหม่ โดยใช้หลักการเทอร์ราเมชัน (Terramation) เปลี่ยนร่างกายมนุษย์ให้เป็นปุ๋ยต้นไม้ ด้วยการห่อร่างกายมนุษย์ด้วยผ้าลินินแฟลกซ์ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามกาลเวลา แล้ววางบนเศษไม้เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในดินให้เหมาะสมในการย่อยสลาย และออกแบบฝาโลงศพชนิดพิเศษที่มีการผสมเชื้อรา ดิน และเศษไม้ที่อุดมไปด้วยไมคอร์ไรซาล (Mycorrhizal) เพื่อเร่งปฏิกิริยาในการย่อยสลาย
การย่อยสลายจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน โดย 30 วันแรก ร่างกายจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยลงสู่ดินคงเหลือไว้แต่กระดูก ส่วนสิ่งที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น น็อต ฟันปลอมจะถูกแยกไปรีไซเคิล จากนั้นจะนำกระดูกชิ้นใหญ่มาบดให้เล็กลงและใส่กลับไปในโลงศพเพื่อให้ย่อยสลายต่ออีก 30 วัน ซึ่งวิธีการนี้ศพจะถูกฝังไว้ใต้ต้นไม้ที่ผู้ตายเลือกไว้ก่อนจะเสียชีวิต หรือผู้ใกล้ชิดเป็นคนเลือกให้เพื่อใช้เป็นตัวแทนของผู้เสียชีวิตในยามที่จากโลกนี้ไปแล้ว ต้นไม้นั้นก็จะเติบโตและกลายเป็นเครื่องฟอกอากาศที่บริสุทธิ์ให้ลูกหลานได้หายใจและลดอุณหภูมิโลกได้
บริษัทผู้ให้บริการมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีนี้มาช่วยปลูกต้นไม้ให้ได้ 1.2 ล้านต้นทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยการฝังศพด้วยวิธีนี้จะทำให้ร่างกายกลายเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้หรือสุสานปลูกป่า ซึ่งสามารถประหยัดค่าฝังศพแบบเดิมได้ถึง 48% เพราะไม่ต้องจ้างคนมาดูแลสุสาน จ้างเพียงคนมาช่วยปลูกต้นไม้เท่านั้น
การฝังศพของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดให้อยู่ใกล้กัน เป็นการเชื่อมต่อความผูกพันและช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีร่วมกันได้ อีกทั้งยังเปลี่ยนบรรยากาศการเชงเม้งที่หลุมศพในสุสานให้เป็นการเชงเม้งที่ใต้ต้นไม้ในป่า ซึ่งคงจะดีไม่น้อยเมื่อมีเพื่อนและครอบครัวช่วยกันรดน้ำและดูแลต้นไม้เพื่อเป็นการระลึกถึงคนที่รัก รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศต่อไปได้หลายชั่วอายุคน เหมือนได้สร้างบรรยากาศแห่งความรัก ความคิดถึง และรักษ์โลก ไปพร้อม ๆ กัน
ที่มาข้อมูล: wetranscend, fastcompany, greenmatters, wellandgood
ที่มาภาพ: freepik
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech