วันนี้ (28 ต.ค.2565) วันสุดท้ายของการประชุมประจำปี รัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 30
(Asia Pacific Parliamentary Forum : APPF 30) คณะกรรมาธิการมีการยกร่างมติและแถลงการณ์ร่วมกัน โดยนายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานในที่ประชุมเปิดเผยว่า แถลงการณ์สรุปการประชุมทั้งหมด รวมถึงร่างข้อมติโดยประเทศไทยได้เสนอในหัวข้อความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งได้รับการยอมรับและมีหลายประเทศให้การสนับสนุน เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซียและกัมพูชา
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อเรื่องการจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐสภาในแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญ และการให้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม รวมถึงการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี ซึ่งประเทศไทยมี พญ.หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ร่วมประชุม
รวมถึง ยังมีการประชุมของคณะทำงานอีก 3 ชุด ที่สอดคล้องกับการประชุมใหญ่ 1.เรื่องการเมืองและความมั่นคง 2.เศรษฐกิจแล้วการค้า และ 3.ความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งกำลังรอร่างข้อตกลงที่จะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์
โดยข้อมติของคณะทำงานความร่วมมือในภูมิภาคเสนอให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรม ส่วนด้านเศรษฐกิจมีการเสริมสร้างการเชื่อมโยงและการขยายประสิทธิภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล ในเอเชียแปซิฟิก
ส่วนด้านการเมืองและความมั่นคงมีข้อเสนอเรื่องรัฐสภากับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหลังสถานการณ์ โควิด-19 เพื่อให้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยและสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน
รวมถึงยังมีเรื่องที่น่าสนใจ เช่น การใช้พลังงานทดแทน หรือ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ที่จะทำให้บรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอน net zero emission เศรษฐกิจและการค้า ทั้งยังมีประเด็นเรื่องคาบสมุทรเกาหลี และการส่งเสริมบทบาทของรัฐสภาด้านการทูต เพื่อความมั่นคงในภูมิภาค
ส่วนข้อมติของคณะการประชุมสมาชิกสภาสตรี คือ การเสริมสร้างพลังให้กับสตรีที่จะเผชิญวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต และการสร้างความเข้มแข็งให้กับการเข้าร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขปฐมมาภูมิ
ทั้งนี้ จากร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วมของการประชุมครั้งนี้ จะมีการติดตามผล โดยคณะเลขานุการประเทศเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้คือประเทศไทยร่วมกับเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไป คือ ฟิลิปปินส์