วันนี้ (1 พ.ย.2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ว่า ประโยชน์ในการตรากฎหมายฉบับนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา
รวมทั้งกำหนดกลไกในการชำระเงินคืนให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้กู้สามารถชำระเงินคืนได้อย่างแท้จริง และส่งผลต่อเนื่องให้การผิดนัดชำระหนี้ลดน้อยลง อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุน เพื่อการกู้ยืมเพื่อการศึกษาทำงานเชิงรุก คือการให้ปรึกษาผู้กู้ยืมเงินเพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพ
ห่วงไม่คิดดอกเบี้ย-ค่าปรับ กระทบวินัยการคลัง
นายอาคม กล่าวว่า สำหรับการยกเลิกการคิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ อาจนำมา ซึ่งปัญหาการขาดวินัยในการชำระหนี้เงินกู้ และอาจก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เนื่องจากการขาดรายได้จากดอกเบี้ย และเบี้ยปรับอาจส่งผลให้ กยศ.ต้องกลับไปพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินอีกครั้ง
หากเนื้อหาสาระเป็นไปตามร่างที่สภาฯ เสนอต่อวุฒิสภาในวันนี้ การประมาณการกระแสเงินสดอีก 3 ปีอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องของบฯ เพิ่มเติม เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะให้เด็กนักเรียนนักศึกษาได้กู้ยืม
หวังว่าวุฒิสภาจะพิจารณาเห็นชอบร่างกฏหมาย โดยให้ กยศ.สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับได้ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาลดภาระและสร้างวินัยการเงิน รวมถึงสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้ยืมเงินจากกองทุน
ที่ผ่านมามีผู้ชำระหนี้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ทำไว้ และเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่เพิ่งผ่านจากวิกฤติเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจงปมเงินกู้ กยศ.หักนายจ้าง 2% ผู้กู้อนุโลมขั้นต่ำหลักร้อย
กยศ.ขยายเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ จนถึง 31 ธ.ค. 65
จ้างเอกชนตามทวงหนี้ 5 หมื่นรายเบี้ยวใช้เงินคืน "กองทุนกู้ยืมศึกษา"