ทุนจีนถือว่ามีบทบาทต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว หากพูดในแง่ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าการลงทุนของทุนจีนมีความน่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จนผงาดขึ้นมาเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 แซงหน้าญี่ปุ่น ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีนี้พบว่า จีนยังนำมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 40,000 ล้านบาท
ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแผงวงจรไฟฟ้า เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จีนมีความสนใจลงทุนในประเทศไทย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ากว่า 270,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากจีนมากที่สุด มูลค่าการลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท ตามมาด้วย ไต้หวัน และญี่ปุ่น
หากย้อนใปในปี 2562 พบว่า จีนมีการขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ มากถึงจำนวน 203 โครงการ เงินลงทุน 261,706 ล้านบาทแซงหน้าญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ก่อนจะลดลงในปี 2563 - 2564 เป็นนักลงทุนอันดับ 2 และพลิกกลับมาเป็นนักลงทุน เบอร์ 1 อีกครั้งช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย.2565
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มกลับมาและเงื่อนไขการลงทุนที่สะดวกมากขึ้นช่วยดึงดูดการลงทุนจากหลายประเทศ ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร
ขณะที่ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานสถิติต่างด้าวจีนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการ ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวปี 2542 มีบริษัทต่างด้าวจีนที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2563 - ต.ค.2565 มีทั้งสิ้น 21 คน มูลค่าการลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ธุรกิจที่จีนสนใจลงทุน เช่น ปิโตรเลียม บริการทางบัญชี นายหน้า ค้าส่งสินค้า
ก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจจีน ร่วมกับศูนย์วิจัย EIC มีการสำรวจทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีน ในประเทศไทยภายหลังโควิด-19 โดยจัดทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งที่อยู่ในจีนและไทยจำนวน 170 ราย ถึงแผนการลงทุนขยายธุรกิจในไทย พบว่า นักลงทุนจีนมากกว่า 2 ใน 3 สนใจลงทุนในไทยในอีก 2 - 3 ปีข้างหน้า