วันนี้ (3 พ.ย.2565) ผู้ประกอบการโรงต้มสุราชุมชน ใน ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ต่างแสดงความยินดีหลังทราบข่าวการแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา โดยเฉพาะประเด็น การปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาต ซึ่งเดิมมีการกำหนดใบอนุญาต 2 ประเภท คือ การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ และสุรากลั่นชุมชน โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตขั้นต่ำทั้งหมด
สำหรับสุรากลั่นชุมชน เดิมกำหนดโรงเล็กกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 7 คน ปัจจุบันขยายให้สำหรับโรงขนาดกลางไม่เกิน 50 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 50 คน
เจ้าของโรงต้มสุราชุมชนห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มทรัพย์การสุรา เปิดเผยว่า การแก้กฎหมายเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ล่าช้า ทั้งที่พวกตนพยายามร้องขอมาตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการไปหลายราย เพราะได้รับผลกระทบจากกฎหมายควบคุมการผลิต และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว อย่างเช่น กากน้ำตาล จากราคา กิโลกรัมละ 3 บาท ปัจจุบันขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 7 บาท
และที่สำคัญค่าอากรแสตมป์ ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าเป็นสุรา 40 ดีกรี จะมีค่าอากรแสตมป์สูงถึง 47 บาท แต่โรงสุราชุมชนขายในราคาขวดละ 68 บาท หรือลังละ 840 บาทเท่านั้น ถ้าขึ้นมากกว่านี้จะไปสู้โรงเหล้าขนาดใหญ่ไม่ได้เลย เพราะรายใหญ่ขายอยู่ที่ลังละ 1,100 บาท แต่มาตรฐานการผลิต และการตลาดดีกว่าผู้ประกอบการรายย่อยมาก
เจ้าของโรงต้มสุราชุมชน ยังสะท้อนปัญหาว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเล็กๆ แบกรับต้นทุนที่แพงไม่ไหวปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก อย่างเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เคยมีโรงต้มสุราชุมชนอยู่กว่า 200 ราย เฉพาะที่ ต.พุดซา ก็ประมาณ 50 ราย แต่ทุกวันนี้ทั้งจังหวัดเหลือโรงต้มสุราชุมชนอยู่ไม่ถึง 20 รายแล้ว การแก้ไขกฎกระทรวงในช่วงนี้จึงมาไม่ถูกเวลา ถ้ามาเร็วกว่านี้สักช่วงปี 57 จะทำให้สถานประกอบการโรงต้มสุราชุมชน เติบโตและสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่องข้อดี-ข้อเสีย "สุราพื้นบ้าน" หลังปลดล็อก
ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวง ปลดล็อก "การผลิตสุรา" มีผลบังคับใช้ 2 พ.ย.