บทเรียนอุทกภัยภาคใต้ จาก “นบพิตำ” สู่ “แผนจัดการภัยพิบัติ” ของชุมชน

5 ก.ย. 54
13:38
100
Logo Thai PBS
บทเรียนอุทกภัยภาคใต้ จาก “นบพิตำ” สู่ “แผนจัดการภัยพิบัติ” ของชุมชน

อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2545 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนภาคใต้ในหลายพื้นที่อย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านใน 4 ตำบล 38 หมู่บ้าน ได้ผลรับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในวันที่น้ำหลาก ฝนตกหนัก น้ำจากเทือกเขาได้ชะพาดิน หินไหลลงมาให้เห็นเป็นทางยาว กระแสน้ำทำให้ถนน-สะพานเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด ส่วนบ้านเรือนหลายสิบหลัง และสวนยาง สวนผลไม้ริมสองฝั่งของ “คลองกลาย” ลำน้ำสายหลักของคนนบพิตำ ก็ถูกพัดหาหายไปกับทะเลโคลน ทิ้งรองรอยไว้เพียงทางน้ำกว้างใหญ่และหาดทรายที่เต็มไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย และความสิ้นหวังของชาวบ้านถึงวันนี้ สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และธารน้ำใจของพี่น้องร่วมชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่

และเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะได้เดินทางลงพื้นที่บ้านปากลง หมู่ 5 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมยินดีในการส่งมอบ “บ้านรวมใจ 1” บ้านหลังแรกใน 5 หลัง จากความช่วยเหลือของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ให้แก่ นางสายพิณ ประดับเพชร ผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ

นางสายพิณ เจ้าของบ้านหลังใหม่บอกเล่าความรู้สึกว่า เธอดีใจที่ในวันนี้ได้มีบ้านเป็นของตัวเองอีกครั้ง นอกจากนี้ในฐานะเสาหลักของครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูลูกชาย-หญิง อีก 2 คน เธอมุ่งหวังที่จะกลับไปทำอาชีพค้าขายในแบบเดิมอีกครั้ง หลังจากต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไปกับกระแสน้ำที่พัดทำลายบ้านของเธอ 

นายโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ชื่อ “บ้านรวมใจ 1” ตั้งขึ้นเพื่อบอกเล่าถึงที่มาของบ้านหลังนี้ ด้วยว่างบในการก่อสร้างกว่า 2 แสนบาท มาจากเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้เดือดร้อนของชาวชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ร่วมกับน้ำพักน้ำแรงจากเจ้าของบ้าน และอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นความช่วยเหลือจากคนในชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งแรงงานของอาสาสมัครจากเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ ใน “โครงการคิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร” ที่มาช่วยกันต่อเติมจนบ้านหลังนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

แม้ความจริงคือมนุษย์ไม่อาจหยุดยั้งธรรมชาติได้ เม็ดฝนที่เทกระหน่ำยังคงสร้างความหวั่นวิตกว่าอาจนำพาความเสียหายให้กลับมาเยือนอีกครั้ง แต่การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้วย “แผนจัดการภัยพิบัติ” คือสิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าหน่วยงานราชการใดๆ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้เบาบางลงได้“บางเรื่องเรายับยั้งไม่ได้ แต่ต้องเตรียมตัวรับ เพื่อให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด” นายโกเมศร์กล่าว

นายโกเมศร์ เล่าถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมาแล้วกว่า 4 เดือนว่า ในวันนั้นเขาและอาสาสมัครชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วกว่า 30 คน ซึ่งดูแลพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และจ.กระบี่ ต้องแบ่งออกเป็น 2 ชุด โดยชุดหนึ่งลงไปให้ความช่วยเหลือในส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และอีกส่วนต้องเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ต.กรุงชิง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก อีกทั้งเส้นทางสัญจรระหว่างหมู่บ้านยังถูกตัดขาด ทำให้ทางชุดปฏิบัติการฯ ต้องใช้สะพานเชือกเพื่อเคลื่อนย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม รวมทั้งขนส่งอาหารและยาที่จำเป็น และในวันนี้สิ่งที่ทีมงานของเขาต้องทำคือการฝึกทักษะคนพื้นที่ให้เป็น “อาสาสมัคร” เพื่อ “การจัดการภัยพิบัติ” ในพื้นที่

“คำตอบสุดท้ายของการจัดการภัยพิบัติคือ ผู้ประสบภัยเท่านั้นที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ก่อน” นายโกเมศร์ กล่าวถึงข้อสรุปจากประสบการณ์นายโกเมศร์ กล่าวด้วยว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือได้ในเรื่องข้อมูล แต่ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่ได้เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น เพราะตั้งอยู่ในส่วนกลางคือกรุงเทพฯ  ส่วนหน่วยงานหนึ่งที่เล็งเห็นว่าจะสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้คือทหาร เนื่องจากมีกำลังคนและยานพาหนะ ดังนั้นการทำงานด้านการจัดการภัยพิบัตินอกจากชุมชนท้องถิ่นต้องดำเนินการด้วยตนเองแล้ว ยังต้องขยายวงพูดคุยไปในภาคสวนต่างๆ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการหาพวก ในส่วนข้อเสนอจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายโกเมศร์ ระบุว่า ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ต้องประสานมือ ลุกขึ้นมาจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ โดย 1.จัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย 2.จัดตั้งกลไกลคณะทำงานในรูปแบบอาสาสมัครที่พร้อมต่อการเรียนรู้ 3.มีระบบดูแลอาสาสมัคร 4.จัดตั้งกองทุนสำหรับการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนั้นยังต้องมีภาคที่ช่วยพัฒนาและหนุนเสริม อย่าง สสส. พอช. และมหาวิทยาลัยต่างๆ

ด้านนายประวัติ ชูวิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ เล่าเพิ่มเติมว่า ในวันที่เกิดเหตุการณ์หมู่บ้านหลายจุดถูกตัดขาด ฝนที่ตกหนักทำให้ไฟฟ้าดับทันที และในพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว อีกทั้งไม่มีวิทยุสื่อสารทำให้การส่งข่าวสารทำให้ลำบาก ขณะนี้จึงมีการจัดซื้อวิทยุสื่อสารเครื่องแดงไว้สำหรับอาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังภัยและรายงานสถานการณ์ 

ส่วนการเตรียมการเพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นนั้น ในหมู่บ้านได้วางแผนการป้องกันสาธารณะภัย ด้วยการจัดทำข้อมูลพื้นฐานของชุมชน มีการจัดเตรียมพื้นที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีการซ้อมจำลองสถานการณ์เพื่อเตรียมรับเหตุที่จะเกิดขึ้น และที่ผ่านมามีการประชุมสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งพบว่าในหมู่บ้านมีพื้นที่เสี่ยงภัยอยู่ทั้งหมด 11 จุด พร้อมเตรียมพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับหากเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีการเตรียมการเพื่อสร้างศูนย์อพยพในพื้นที่ด้วย

ขณะที่นายวิสุทธิ์ กูลระวัง รองนายก อบต.นาเหรง อ.นบพิตำ กล่าวว่า ในสวนของ อบต.มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับคนในชุมชนรวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ด้วย อีกทั้งมีการจัดเตรียมงบประมาณสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย อย่างไรก็ตามงบประมาณดังกล่าวยังมีจำกัด นอกจากนี้ ต.นาเหรงได้มีการตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติขึ้นแล้ว และขั้นต่อไปคือการหาทุนเพื่อมาดำเนินการ นอกจากนี้ ล่าสุดสมาชิกของชุมชนยังได้เข้าร่วมอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยพิบัติแล้วด้วยนายลักษณันท์ ศรีจันทร์ รองหัวหน้าชุดช่วยเหลือพิบัติภัย ต.นาเหรง หนึ่งในอาสาสมัคร 16 คน จาก ต.นาเหรง ที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครชุดแรกของ อ.นบพิตำ รับการอบรมที่จัดโดยเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจากธรรมชาติ รวมกับอาสาสมัครจาก ต.เกาะขันธ์ และ ต.บ้าน อ.ชะอวด เล่าว่า พื้นที่ ต.นาเหรงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และบ้านของเขาแม้จะอยู่บนที่สูงก็ยังถูกน้ำท้วม จึงมาเป็นอาสาสมัครเข้ารับการฝึกอบรมป้องกันภัยพิบัติ เพราะอยู่ในฐานะผู้ประสบภัยโดยตรง และแม้ว่าเขาจะเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) แต่ก็ยังต้องเรียนรู้ในหลายๆ เรื่องเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้

นายลักษณันท์ กล่าวถึงการทำงานของชุดช่วยเหลือพิบัติภัย ต.นาเหรงว่า ในชุดทำงานได้มีการแบ่งหน้าที่กัน เช่น หน่วยเฝ้าระวัง-หาข่าว หน่วยเคลื่อนที่เร็ว หน่วยกู้ชีพและพยาบาลเบื้องต้น โดยดูแลรับผิดชอบโซนเทือกเขาหลวงและพร้อมจะขยับช่วยเหลือในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจาก ต.นาเหรง เป็นตำบลนำร่องที่ได้ลงนามใน MOU ร่วมกับอีก 35 ตำบล ใน จ.นครศรีธรรมราช ที่จะร่วมช่วยเหลือกันเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ และจะมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือในตำบลใกล้เคียงออกไปเรื่อยๆ ตามโครงการคิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร ซึ่งเป็นโครงการขับเคลื่อนเมืองนครสู่จังหวัดน่าอยู่ด้านนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สสส.กล่าวทิ้งท้ายไว้น่าสนใจว่า กรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เป็นรูปแบบหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ โดยไม่ได้ทิ้งภาคส่วนต่างๆ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนโดยให้รัฐ หรือหน่วยราชการอยู่ในส่วนสนับสนุน ส่วนเรื่องพื้นฐานชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการด้วยตนเองได้ 

“การนำพลังชุมชนท้องถิ่นมาเป็นทางออกของวิกฤติ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “หลักคิด” ของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตนเอง เพราะการรวมศูนย์ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปในสังคมได้ และยังไม่สอดคล้องกับวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”นายสมพรกล่าวและว่า  การกระจากอำนาจให้ท้องถิ่นนั้นก็เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน เป็นการคืนอำนาจให้ถึงมือประชาชน เพราะหากมีวิธีคิดแล้วการปฏิบัติก็จะเกิด และผลที่ได้จะมากกว่าแค่การได้ช่วยเหลือคนอื่น แต่จะทำให้บ้านเมือง รวมไปถึงประเทศเข้มแข็งด้วย

จากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่นช่วยฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาจากปลายเหตุ แต่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นยังเป็นส่วนสำคัญในการรับมือต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่ป้องกันปัญหาต่อไปได้ในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง