วันนี้ (7 พ.ย.2565) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดโลกผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท
ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 เช่น มาตรการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2565 การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และเร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะสามารถประมาณเทียบเท่าการลดการนำเข้า Spot LNG
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ แต่ละมาตรการ ได้แก่ สำนักงาน กกพ., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.), กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งดำเนินการ โดยให้สำนักงาน กกพ.ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน เปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อพิจารณาความคุ้มค่า
สำหรับมาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงาน ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคาร 27 องศาเซลเซียส, ปิดระบบไฟส่องสว่างที่ไม่จำเป็น, กำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณา, ปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. รวมถึงการกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตามมาตรการที่ขอความร่วมมือเหล่านี้ จะกลายเป็นมาตรการบังคับหากราคา LNG เพิ่มสูงเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูขึ้นไปต่อเนื่องเกิน 14 วัน