เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผู้นำชาติอาเซียน รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปยังกรุงพนมเปญของกัมพูชา เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ (11พ.ย.) พร้อมการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย, โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
ผู้นำอาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นเมียนมา เดินทางเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา ที่พระราชวังในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. โดยสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม ทรงอ่านถ้อยแถลงแก่บรรดาผู้นำ ก่อนที่จะถ่ายภาพร่วมกัน
ทางการกัมพูชาระดมกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 10,000 นาย รักษาความปลอดภัยทั่วเมืองหลวง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงแรมซกฮา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม
ท่ามกลางการติดตามอย่างใกล้ชิดของสื่อมวลชนนับพันคนที่เดินทางไปรายงานข่าว เนื่องจากการประชุมครั้งนี้จะมีการประชุมสำคัญข้างเคียงหลายเวที การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งปีนี้ "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางมายังกรุงพนมเปญด้วย ขณะที่บางเวทีอาจได้เห็น Sergei Lavrov รมต.ต่างประเทศรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้แทนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เช่นกัน
รมต.ต่างประเทศยูเครนร่วมประชุมในกัมพูชา
ส่วนฝั่งยูเครนส่ง ดมิโทร คูเลบา รมต.ต่างประเทศ เป็นผู้แทนเข้าร่วมงาน โดยก่อนการประชุมจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้ (11 พ.ย.) รมต.ต่างประเทศยูเครน ได้เดินทางเข้าพบกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้นำกัมพูชามีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครน โดยไม่กี่วันหลังสงครามปะทุขึ้น กัมพูชาจับมือกับอีกเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก เสนอในวงประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ให้มีการประณามการโจมตียูเครนของรัสเซีย ซึ่งมตินี้ได้รับการสนับสนุนจาก 141 ประเทศ
นอกจากนี้ ผู้นำกัมพูชาได้ประกาศต่อต้านการรุกราน การข่มขู่ และการใช้ความรุนแรงต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนที่เป็นอิสระ อีกทั้งยังร่วมผลักดันมติ UNGA ประณามการผนวกรวมดินแดน 4 ภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจุดยืนของอาเซียนต่อเรื่องสงครามยูเครนเป็นอีกครั้งที่ทำให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้ถูกวิจารณ์ เพราะท่าทีไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
สิงคโปร์ กลายเป็นประเทศแรกของอาเซียนและอาจจะเป็นประเทศเดียวที่กล้าออกมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จากการก่อสงครามในครั้งนี้ สวนทางกับเวียดนามและลาวที่งดออกเสียงทั้ง 2 มติ ทั้งการประณามการโจมตียูเครนและการผนวกดินแดนยูเครน ส่วนไทยงดออกเสียงในมติประณามการผนวกดินแดน เช่นกัน
นอกจากเรื่องสงครามในยูเครนที่หลายฝ่ายจับตามองในการประชุมครั้งนี้ ยังมีเรื่องความขัดแย้งอื่นๆ เช่น ความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากเกาหลีเหนือระดมทดสอบขีปนาวุธในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะกลบประเด็นระดับภูมิภาคอย่างกรณีพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ความภาคภูมิใจของกัมพูชา" นาฬิกาหรู ประชุมสุดยอดอาเซียน 2022