วันนี้ (17 พ.ย.2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022 ย้ำการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องอาศัยความร่วมมือภาคเอกชนในการขับเคลื่อน เนื่องจากมีความท้าทายหลายด้านหลังการระบาดของโควิด-19
โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียนและสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) เป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูประเทศและช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือในระดับโลก โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านดิจิทัล, สิ่งแวดล้อม, การเงิน และพลังงาน ซึ่งนอกจากส่งเสริมธุรกิจไทยแล้ว ยังหวังว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ 3 ประการที่นายกฯ นำเสนอในที่ประชุมฯ มีดังนี้
1. การส่งเสริมความยั่งยืนที่จะต้องร่วมมือกัน ซึ่งไทยได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปคในปีนี้ และมุ่งมั่นที่จะนำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังคงมีผลกำไร
2. การเจริญเติบโตที่ครอบคลุมที่ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยความร่วมมือเอเปคจะนำไปสู่การปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น ขจัดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ขณะที่ไทยได้ผลักดันการเสริมพลังสตรีและสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งจากเยาวชนในโครงการ APEC Voices of the Future ฯลฯ
3. การมุ่งไปสู่ดิจิทัลที่เป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพและการเจริญเติบโตในภูมิภาค ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจ ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จากผลกระทบของโรคระบาดและการพัฒนาของภูมิภาคในระยะยาว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่ให้ภาคเอกชนและภาครัฐได้ทำงานร่วมกัน เพื่อหาทางรับมือกับความท้าทายที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ เช่น สงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาวะเงินเฟ้อ การก่อการร้าย การขาดแคลนอาหาร พลังงาน ความยั่งยืน รวมถึงเทคโนโลยี
เชื่อมั่นว่าความร่วมมือและความมุ่งมั่น จะนำพาเราให้ผ่านพ้นความผันผวนต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญ โดยตระหนักว่าโลกของเราต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ความครอบคลุมและนวัตกรรมใหม่ๆ
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า ประเทศไทยได้นำโมเดล BCG มาเป็นกลยุทธ์ในการฟื้นฟูประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
สำหรับประเทศไทย มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตของประเทศ รวมถึงการก่อสร้างทางหลวงและมอเตอร์เวย์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 271 ในปี 2564 การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อเมืองและศูนย์ด้านเศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารอีกร้อยละ 17 เป็น 139 ล้านคน
และหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไทยได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น ขณะที่การเข้าถึงระบบสวัสดิการได้รับการพัฒนาจนได้รับความชื่นชมจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับการระบาดใหญ่ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง
เสถียรภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบกับการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ
สำหรับการประชุม APEC CEO Summit 2022 มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้นำจากภาครัฐและเอกชนกว่า 500-600 คนที่มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็น นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดประชุม รมต.เอเปค ดันเปิดกว้างการค้า-ลงทุน เดินหน้า FTAAP
ผอ.สำนักเลขาธิการเอเปค ชื่นชมไทยระดับเวิลด์คลาส จัดประชุมเอเปค