วันนี้ (22 พ.ย.2565) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทย ว่า วัคซีนไทยที่คืบหน้าที่สุดขณะนี้ คือวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งอยู่ในเฟส 2 และจะเข้าสู่เฟส 3 เดือน ธ.ค.2565 - ม.ค.2566 โดยต้องขึ้นกับผลการทดลองเฟส 2 ว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหรือไม่อย่างไร คาดว่าจะทราบผลปลายเดือน พ.ย.นี้ หรือต้นเดือน ธ.ค.
สำหรับเฟส 3 จะใช้ทดสอบเพื่อเป็นวัคซีนกระตุ้นสำหรับผู้ที่ใช้วัคซีนชนิดอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ หากกระตุ้นด้วยวัคซีนของ อภ.เทียบกับกระตุ้นด้วยวัคซีนของแอสตราเซเนกา และไฟเซอร์จะได้ผลที่แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้หากผลไม่ต่างกันแสดงว่าวัคซีนของ อภ.เทียบเท่ากับวัคซีนต่างประเทศก็ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป
ส่วนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมีการเปลี่ยนบริษัทผลิตวัคซีนจากสหรัฐฯ เป็นบริษัทไบโอเน็ตเอเชีย จึงต้องทำการทดสอบซ้ำใหม่อีกครั้งว่า วัคซีนที่ผลิตใหม่นี้ได้ผลเหมือนกับวัคซีนที่ผลิตจากสหรัฐฯ หรือไม่ กำลังจะเริ่มเฟส 1 ใหม่โดยมีวัคซีนทุกอย่างพร้อมแล้วรอการอนุมัติให้ทดสอบ
เฟส 1
ขณะที่วัคซีนใบยาของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการรอผลเฟส 1 เบื้องต้นวัคซีนรุ่นที่ 2 สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีกว่า วัคซีนรุ่นที่ 1
ทั้งนี้วัคซีนสัญชาติไทยทั้ง 3 ชนิดนี้จะใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น คงไม่ใช่วัคซีนตั้งต้นเพราะคนไทยได้รับวัคซีนไปจำนวนมากแล้ว
สำหรับงบประมาณในการศึกษาวิจัยไม่เป็นปัญหา แม้ว่าไทยจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้อย่างเพียงพอ