ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รายงานพิเศษ : แกะรอย “โซเดียมไซยาไนด์”

อาชญากรรม
22 พ.ย. 65
14:04
1,762
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : แกะรอย “โซเดียมไซยาไนด์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ต้นเดือน พ.ย. กรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งระงับส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ไปเมียนมา 220 ตัน พบปี 2565 ส่งไปแล้ว 810 ตัน ป.ป.ส.ชี้ผลิตยาบ้าได้ 16 ล้านเม็ด ข้อมูลมั่นคงวิเคราะห์ส่วนหนึ่งส่งเข้าสามเหลี่ยมทองคำ-กระจายเข้าเขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์

ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมระงับส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide) ไปยังประเทศเมียนมา 220 ตัน

หลังพบว่า ต้นปี 2565 ไทยนำเข้าสารดังกล่าว ปีละ 1,150 ตัน และส่งออกไปเมียนมา 810 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 310 ตัน ใช้ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และการชุบโลหะภายในประเทศ

ป.ป.ส.คำนวณว่า สารโซเดียมไซยาไนด์ 810 ตัน สามารถนำไปผลิตยาบ้าได้ถึง 16,060 ล้านเม็ด

ขณะที่ข้อมูลจาก นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า ไทยไม่สามารถผลิตโซเดียมไซยาไนด์ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสารตัวนี้ หากนำไปทำปฏิกิริยากับสารเบนซิลคลอไรด์ จะกลายเป็นเบนซิลไซยาไนด์ เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้สารโซเดียมไซยาไนด์ ภายในประเทศ 141 ราย

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักลอบนำสารดังกล่าวไปผลิตยาเสพติด จึงมีมาตรการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ พร้อมสั่งระงับการส่งออก และชะลอการนำเข้าไว้ก่อน

กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตการนำเข้าและส่งออกตามปริมาณการใช้จริง อนุญาตเป็นราย ๆ ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ซื้อ (End Use) ต้องยืนยันตัวตน โดยการลงทะเบียน เพื่อควบคุมปริมาณและติดตามการใช้สารดังกล่าว ไม่ให้นำไปผลิตยาเสพติด และป้องกันไม่ให้ผู้ค้ารายย่อย ลักลอบนำไปขาย

สารตั้งต้นยาเสพติดไม่มีแค่โซเดียมไซยาไนด์

ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ายาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ที่ผิดกฎหมาย ค.ศ.1988 ระบุว่า สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ถูกลักลอบนำไปผลิตวัตถุเสพติด และประเทศสมาชิกต้องดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี มีจำนวน 23 ชนิด

แหล่งข้อมูลด้านความมั่นคง ระบุว่า เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นที่นำมาผลิตยาเสพติดได้นั้นมีถึง 50 ชนิด แต่สารเคมีที่ถูกใช้มาก คือ โพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต (Potassium Permanganate) เมทคาทิโนน (methcathinone) และโซเดียมไซยาไนด์

สารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ โดยเฉพาะโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต ซึ่งจีนเป็นประเทศต้นทาง ที่ส่งออกสารดังกล่าวไปยังพม่า เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ไทย

ขณะเดียวกัน ลาวก็ส่งออกโพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต เข้ามายังไทย และเวียดนาม เช่นเดียวกับ เมทคาทิโนน (methcathinone) สาร หรือ ยาเมทิโลน (Methylone)

ซึ่งตามกฎหมายไทยจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และเป็นยาในกลุ่ม เอมพาโทเจน (Empathogens) หรือเอนแทคโตเจน (Entactogens) และโซเดียมไซยาไนด์

เกาหลีใต้และจีน เป็นประเทศผู้ส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ ให้กลุ่มประเทศอาเซียน และไทยได้สั่งเข้ามาถึง 45 ล้านกิโลกรัม

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า โซเดียมไซยาไนด์ ด้วยตัวของมันเอง ไม่ใช่สารตั้งต้น แต่เป็น Precursor หรือตัวตั้งต้นที่นำไปสกัด หรือสังเคราะห์และให้ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารชนิดอื่นเพื่อผลิตยาบ้า เช่นเดียวกับซูโดเอฟีดรีน จึงตั้งข้อสังเกตว่าหากนำโซเดียมไซยาไนด์ไปใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อใช้ผลิตยาบ้าจึงไม่คุ้ม

เส้นทางไซเดียมไซยาไนด์ในเมียนมา

มีข้อมูลจากกองสถิตการค้าแห่งสหประชาชาติว่า ปี 2019-2021 ประเทศต่าง ๆ มีการส่งออกโซเดี่ยมไซยาไนด์ไปยังพม่า มีปริมาณรวม 10,786,830.73 กก. หรือ 10,786,83 ตัน คิดเป็นร้อยละ 42.7 ของปริมาณการส่งออกไปยังพม่าทั้งหมดในรอบ 20 ปี

และในปี 2022 คาดประมาณว่า ปริมาณการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ไปยังพม่า อาจคาดประมาณว่าน่าจะมีปริมาณ 4,107,606.82 กก.

โซเดียมไซยาไนด์ที่ถูกนำเข้ามาจากเกาหลี จีน และไทย ไม่ได้ใช้เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมในเมียนมา แต่พบว่า ถูกลำเลียงเข้าไปในระดับภูมิภาค เขตย่างกุ้งและรัฐต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐคะฉิ่น รัฐยะไข่ และรัฐฉาน และพื้นที่สู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน

ถ้านำเข้าจากไทย สารเคมีดังกลาวจะถูกลำเลียงเข้าไปที่ รัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง และเขตตะนาวศรี และในกรณีที่ถูกส่งมาจากอินเดียก็จะนำไปที่รัฐยะไข่ เขตสะกาย
ถ้านำเข้าจากประเทศจีนก็จะลำเลียงไปไว้ที่รัฐคะฉิ่น นอกจากนี้ยังมีเส้นทางโดยตรง คือ นำเข้าไปในเขตย่างกุ้ง เขตมัณฑะเลย์

ข้อมูลกรมศุลกากร ระบุว่า ปี 2555-2564 ปริมาณการนำเข้าโซเดียมไซยาไนด์ของไทยปริมาณเฉลี่ยสูงถึง 2,710,000 กก.ต่อปี

โดยเฉพาะช่วงปี 2555-2562 มีปริมาณนำเข้าเฉลี่ย 3,200,000 ต่อปี จึงเป็นการนำเข้าเกินกว่าปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศ

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องชะลอการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ จนกว่าจะมีการจัดสรรโควตาแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้ใช้งานจริง หรือ ประเทศเมียนมา ที่สามารถนำเข้าได้โดยตรง เพราะในช่วงที่ไทยไม่อนุญาตส่งออก เมียนมาก็นำเข้าโดยตรงจากจีน

ขณะที่ รมว.ยุติธรรม บอกสั้นๆ ว่า ขณะนี้มอบหมายให้ ป.ป.ส.จัดทำข้อสรุปให้ชะลอการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์ เพื่อจัดสรรให้รัดกุมก่อน โดยเฉพาะที่ส่งออกต่างประเทศ

ส่วนในประเทศที่ต้องการใช้สารโซเดียมไซยาไนด์กว่า 310 ตัน ก็จะคุมเข้มในการใช้ จนกว่าจะมีการจัดสรรโควตาทั้งหมด

สกัดส่ง “โซเดียมไซยาไนด์”เข้าเหมืองทอง

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุว่า เบื้องหลังการสกัดกั้นไม่ให้ส่งออกโซเดียมไซยาไนด์จากไทยไปเมียนมา ไม่ใช่แค่ป้องป้องกันไม่ให้นำตั้งต้นไปผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอย่างเดียว

มีการวิเคราะห์ว่า ปริมาณยาบ้าที่ผลิตและส่งเข้าในไทย ที่เจ้าหน้าที่จับกุมได้ มีเพียงครึ่งเดียวที่สกัดจาก Percursor

มีคำถามว่า โซเดียมไซยาไนด์ ส่วนที่เหลือและส่งออกอย่างถูกกฎหมายไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น ถูกไปนำใช้ทำอะไร

พม่าต้องการใช้โซเดียมไซยาไนด์ทำเหมืองทองจำนวนมาก และเหมืองทองส่วนใหญ่ อยู่ในเขตติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์

สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ การเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ ซึ่งพบว่า เส้นทางที่มีการลำเลียงโซเดียมไซยาไนด์เข้าไป หากนำเข้าทางจีน ลาว หรือเส้นทางอื่นต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าผ่านไทย สามารถเข้าถึงเหมืองทองที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ได้เลย

แหล่งข่าวระบุว่า สภาพภูมิประเทศของไทยเอื้อต่อการนำเข้าโซเดียมไซยาไนด์ไปยังเหมืองทองในพม่าทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จากจีน-ลาว-ไทย หรือ อินเดีย รวมทั้งสารเคมีอื่น ๆ ที่ต้องส่งเข้าไปผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำด้วย

เรายังไม่กล้าระบุชัดว่า ความพยายามสกัดนำเข้าโซเดียมไซยาไนด์ มีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ยอมรับว่า มีหน่วยงานด้านยาเสพติดระหว่างประเทศ ได้ขอให้ทางการไทยจับตาดูเรื่องการส่งออกสารไซเดียมไซยาไนด์ไปพม่าจริง

“เหมืองทอง-สายแร่” ชิงพื้นที่กลุ่มมหาอำนาจ

ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงมาก พิษจะเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิว หนังและตา หากนำไปสกัดผลิตยาเสพติดเช่น ยาบ้า หรือ เคตามีน ไม่คุ้มเพราะเคตามีนใช้ตัวอื่นแทนได้ และด้วยพิษของสารเคมีดังกล่าวหากผู้ใช้ไม่ระวัง ก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเอง

แหล่งข่าวระบุว่า การชะลอส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ ไม่ใช่การสกัดกั้นสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์การแย่งชิงทรัพยากรในพม่า ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งค้นพบว่า มีสายแร่ทองคำหรือเหมืองแร่ทองคำ ในเขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีนายทุนชาวจีนเข้าไปร่วมทำธุรกิจ

จากการวิเคราะห์มูลเชิงลึกพบว่า หน่วยงานด้านยาเสพติดระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคนี้ ที่สนับสนุนงบประมาณลับ ๆ ให้กับหน่วยงานด้านยาเสพติดของไทย ประสานมายังผู้ที่กำกับดูแลหน่วยงานดังกล่าว ขอไม่ให้ส่งโซเดียมไซยาไนด์เข้าไปให้บริษัทเอกชน ที่ทำธุรกิจในเมียนมา

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เส้นทาง ความสัมพันธ์ และความเป็นไปได้การสั่งชะลอนำเข้าไซเดียมไซยาไนด์ จะเห็นได้ว่า หลังจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะดูแลสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) หน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่กำกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประสานกำลังสกัดไม่ให้มีการส่งออกโซเดียมไซยาไนด์

น่าจับตาว่า เส้นลำเลียงสารไซยาไนด์เข้าไปในเมียนมา จะสิ้นสุดลงที่จุดใดสามเหลี่ยมทองคำ หรือพื้นที่เหมืองทองในพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง