วันนี้ (29 พ.ย.2565) เพจเฟซบุ๊ก สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี กระทรวงวัฒนธรรม เผยข่าวดีการค้นพบแหล่งภาพเขียนสีแห่งใหม่จำนวน 14 ภาพ ซึ่งแหล่งที่ค้นพบนั้น ชาวบ้านเรียกกันในชื่อ "ถ้ำฝ่ามือแดง" ตั้งอยู่บริเวณบ้านห้วยเหว่อ หมู่ที่ 10 ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ห่างจากชายแดนไทย-ลาวประมาณ 100-200 เมตร
สภาพพื้นที่เป็นลานหินทรายสลับสูงต่ำ บริเวณที่พบภาพเขียนสีมีลักษณะเป็นหินทรายขนาดใหญ่ วางซ้อนทับกัน ขนาดเพิงหินยาว 10.30 เมตร สูง 2.41 เมตร บริเวณด้านทิศใต้ของเพิงหินเป็นจุดที่พบภาพเขียนสี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามตำแหน่งที่พบ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริเวณผนังเพิงหินด้านนอก พบภาพเขียนสีจำนวน 6 ภาพ ประกอบด้วยภาพสัตว์และภาพมือ เขียนด้วยสีแดงน้ำหมาก มีการใช้เทคนิคการเขียนสีหลายรูปแบบ เช่น การระบายทึบ การเขียนเฉพาะเส้นกรอบ การเขียนเส้นกรอบแล้วระบายทึบ และการทาสีลงบนฝ่ามือแล้ววางทาบลงไปบนแผ่นหิน
กลุ่มที่ 2 บริเวณผนังเพิงหินด้านใน ทิศตะวันตก พบภาพเขียนสีจำนวน 4 ภาพ เป็นภาพสัตว์ ภาพมือ และบางภาพยังไม่สามารถจัดจำแนกได้ว่าเป็นภาพอะไร เขียนด้วยสีแดงน้ำหมาก ใช้เทคนิคแบบระบายทึบและการทาสีลงบนฝ่ามือแล้วทาบลงบนแผ่นหิน
กลุ่มที่ 3 บริเวณผนังหินด้านใน ทิศตะวันออก พบภาพเขียนสีจำนวน 4 ภาพ วาดเป็นรูปสัตว์ บางภาพไม่สามารถจัดจำแนกได้ เขียนสีด้วยสีแดงน้ำหมาก ใช้เทคนิคการระบายทึบ การเขียนเส้นกรอบแล้วระบายทึบ
จากการศึกษาพบว่าการเขียนภาพสัตว์เป็นภาพที่พบมากที่สุด โดยพบถึง 9 ภาพจากทั้งหมด 14 ภาพ ส่วนภาพมือนั้นพบ 2 ภาพ อีก 3 ภาพ ไม่สามารถจัดจำแนกได้ว่าเป็นภาพอะไร
โดยทั่วไปรูปแบบ ภาพเขียนสี สามารถจัดจำแนกได้ออกได้หลายรูปแบบ เช่น ภาพเสมือนจริงเลียนแบบธรรมชาติ ภาพนามธรรม ภาพคตินิยม และภาพสัญลักษณ์
สำหรับภาพเขียนสีที่พบที่แหล่งโบราณคดีนี้จัดเป็นกลุ่มภาพเสมือนจริง วาดภาพเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ภาพสัตว์ และภาพสัญลักษณ์ เช่น ภาพมือ จากลักษณะภาพเขียนสี อาจกำหนดอายุเชิงเทียบในเบื้องต้นได้ว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 1,500–3,000 ปีมาแล้ว
ทั้งนี้ ตำแหน่งที่พบภาพมือนั้นจะประทับใกล้กับภาพสัตว์ ซึ่งคล้ายกับภาพมือที่พบที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่จะประทับไว้กับภาพสัตว์ขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งอาจมีความหมายสื่อถึงพิธีกรรมการล่าสัตว์หรือจับสัตว์ในอดีต