ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ กองบังคับการตำรวจรถไฟ จากกระแสในโลกออนไลน์ที่พูดถึง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 163 ที่ระบุ ยุบเลิก กองบังคับการตำรวจรถไฟ ภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ 17 ตุลาคม 2566
หากคุณต้องเลือกคนเดินทางร่วมกับคุณได้ 1 คน ในขณะขึ้นรถไฟ
ระหว่างตำรวจรถไฟ กับ พนักงานรักษาความปลอดภัย
คุณจะเลือกใคร?
คำถามแรกที่ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ยิงคำถามกลับมาที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมกับบอกว่า ขอฝากคำถามนี้ให้ ปชช.ช่วยตอบแทนให้ด้วย
เริ่มต้น พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของตำรวจรถไฟที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัย สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 สมัยนั้นตั้งแต่เริ่มต้นสร้าง “รางรถไฟ” ก็จะมีคนไม่ดีเข้ามาขโมยสิ่งของช่วงก่อสร้าง มาทำร้ายคนงานก่อสร้าง จึงมีพระราชดำริให้มีตำรวจรถไฟ ขึ้นมาดูแลตลอดการสร้างราง
เมื่อรางสร้างเสร็จ ก็ต้องมีขบวนรถไฟตามมา การเดินทางของผู้คนก็เริ่มขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการก่อเหตุอาชญากรรมที่ตามขึ้นขบวนรถไฟตาม ตำรวจรถไฟ ก็ต้องเปลี่ยนงานจากดูแลรางรถไฟ มาเป็นดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ที่เดินทางแทน และทำหน้าที่นั้นยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้
125 ปี ไทยมีรถไฟ อาชญากรรมบนรถไฟก็นานพอกัน
บางสถานีที่มีรถไฟ 2 ขบวน ขับสวนกัน ต่างฝ่ายต่างต้องชะลอความเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่ช่วงเวลานั้นกลับเป็นเวลาทองสำหรับอาชญากรบนรถไฟ ที่ก่อเหตุจากขบวนหนึ่งแล้ววิ่งลงไปขึ้นอีกขบวนหนึ่งที่กำลังสวนมา และผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่นั้นๆ เพราะมีความเชี่ยวชาญ คุ้นเคย ทั้งในแง่สถานที่ เวลา และจังหวะที่จะลงมือ
อีกกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยๆคือ การลวนลามบนรถไฟ และตำรวจรถไฟจะสามารถระงับเหตุได้ทันเวลาแทบทุกครั้ง
คำถามที่เกิดตามมาคือ ถ้าไม่มีตำรวจรถไฟบนขบวนรถ เหตุเช่นนี้จะจบยังไง? เพราะอย่าลืมว่า การแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนนั้น
เหตุจำเป็นต้องเกิดขึ้นแล้ว หรือ ความผิดนั้นสำเร็จแล้ว
ถึงจะมีเจ้าทุกข์มาแจ้งความได้ แล้วเราต้องปล่อยให้เหตุเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนด้วยหรือ?
ผลงานไม่เข้าตากรรม(มาธิ)การ
เมื่อทีมข่าวถาม พล.ต.ต.อำนาจ ว่าเป็นเพราะหน่วยงานไม่มีผลงานเป็นที่น่าพอใจ หรือ ไม่เข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่หรือไม่ จึงเป็นอีกเหตุผลที่ต้องถูกยุบไป
ถ้าเราประกาศออกสื่อว่าเราจับนู่นนี่ได้บ่อยๆ
ความรู้สึกของประชาชนที่ขึ้นรถไฟจะเป็นอย่างไร
เขาจะคิดว่าความปลอดภัยในทรัพย์สินเงินทองของเขาอยู่ที่ไหน
ต้องเข้าใจว่า การเดินทางด้วยรถไฟ เป็นการเดินทางที่เข้าถึงคนแทบทุกเพศ ทุกวัย และทุกชนชั้น เช่นเดียวกับมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาเช่นกัน
อันที่จริงบนรถไฟมีเหตุไม่ดีต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่คดีเล็กๆ จนถึงคดีใหญ่ แต่แทนที่เราจะประกาศออกข่าวทุกวันว่าวันนี้เราจับกุมใครได้บ้าง ก็จะสร้างแต่ความหวาดกลัวในการขึ้นรถไฟให้ประชาชนเสียมากกว่า สู้เราส่งเจ้าหน้าที่ของเราขึ้นประจำขบวนรถไฟไปตลอดทาง ยังถือว่าป้องปรามเหตุได้ดีกว่า และประชาชนก็สบายใจด้วย
ถ้าถามว่าวันนี้ไม่มีตำรวจรถไฟแล้วจะดีหรือไม่ ผมไม่รู้
หน่วยงานผมกำลังถูกยุบ ผมพูดไปก็เหมือนขี้แพ้ชวนตี
เอาเป็นว่า คำถามนี้ประชาชนน่าจะตอบได้ดีมากกว่า
เพราะคนที่กระทบที่สุดก็น่าจะเป็นประชาชน
ส่วนที่บอกกันมาว่า จะจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยมาทำหน้าที่แทนตำรวจรถไฟนั้น แค่มองในแง่การบังคับใช้กฎหมายก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะ ”อำนาจการจับกุม” คือสิ่งที่ทำให้ตำรวจแตกต่างออกไปจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐอื่นๆ
จะให้เจ้าหน้าที่ของการรถไฟมาดูแลความปลอดภัย ถ้าในกรณีคดีจับกุมตามหมายจับ เขาก็ไม่มีอำนาจจับกุม ทำอะไรลงไปก็เสี่ยงโดน “ละเมิด” เดี๋ยวโดนฟ้องกลับอีก แล้วเขาจะกล้าปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ยิ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ยิ่งน่ากังวล เพราะเขามีอำนาจเทียบเท่าประชาชนด้วยซ้ำ มิจฉาชีพที่ไหนเห็นแล้วจะกลัว
วันนี้ถ้ามีเหตุอะไร เราตะโกน ตำรวจ ตำรวจ!
อาจช่วยชะลอเหตุ หรือยับยั้งการเกิดเหตุได้
แต่ในอีก 1 ปี เราตะโกน ตำรวจ ตำรวจ ใครที่ไหนจะกลัว
เพราะผู้ร้ายเขาก็รู้แล้วว่า ไม่มีตำรวจบนรถไฟ
ถ้าพูดถึง ระยะเวลา 1 ปีก่อนยุบ ถ้าจะมองในมุมการให้เวลาเตรียมตัวของบริษัทที่จะจ้างเข้ามา พล.ต.ต.อำนาจ บอกว่า ขนาดตำรวจจริงๆ ยังต้องใช้เวลาเรียน ฝึกปฏิบัติ พอเข้ามาทำงานจริงยังต้องใช้เวลาเก็บสะสมประสบการณ์อีกพักใหญ่ กว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มร้อย ยังไงก็ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี
การฝึกปฏิบัตินั้นสำคัญ แต่ต้องมีประสบการณ์เพิ่มเข้าไปถึงจะทำงานได้ดีเยี่ยม
พล.ต.ต.อำนาจ แสดงความคิดเห็นอีกว่า การจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยมาดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนนั้นอาจจะดูไม่เหมาะสม เพราะในฐานะผู้ปฏิบัติงานหน้างาน เราต่างรู้ว่า มิจฉาชีพ หรือ อาชญากรบนรถไฟ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกลัวตำรวจด้วยซ้ำ
ยุบ 700 ชิ่งกระทบนับพัน
นอกจาก พล.ต.ต.อำนาจ แสดงความกังวลต่อเรื่องความปลอดภัยของประชาชนแล้ว ในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็มีเสียงสะท้อนบนความห่วงใยต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอีกกว่า 700 นาย
ไม่ใช่แค่ 700 กว่านายนี้นะที่จะลำบาก แต่ครอบครัวของพวกเขาอีกกี่ร้อย กี่พันคน ที่จะได้รับผลกระทบ
ตำรวจรถไฟอีกหลายคนที่เลือกว่าจะจบชีวิตราชการที่กองตำรวจรถไฟ หลายคนเลือกลงหลักปักฐาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพื่อใช้ในการทำงาน
แต่เมื่อคำสั่งนี้กำลังจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า จากคนที่มีบ้านจะกลายเป็นคนไม่มีบ้านทันที ตำรวจหลายนายยังผ่อนบ้านอยู่ แล้วถ้าถูกย้ายไปประจำต่างสถานที่ จากทรัพย์สินก็กลายเป็นภาระขึ้นมาเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้ว จุดเด่นของตำรวจรถไฟคือใจที่บริการ แม้จะบอกว่า เป็นตำรวจต้องทำงานได้ทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่ถ้าได้ทำงานในสิ่งที่เชี่ยวชาญ ด้วยใจมุ่งมั่น ก็ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อทีมข่าวถามถึงจุดหมายปลายทางของ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ว่าจะต้องเดินทางไปทางไหน คำตอบที่ได้คือ ยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะจัดสรรกำลังพลไปให้กับหน่วยงานใดในองค์กรสีกากีแห่งนี้ แต่หากมองไปอีก 1 ปีข้างหน้า ที่จะไม่มีตำรวจรถไฟ
ประชาชนคงตอบว่า “ไม่อยากให้ยุบ”
ตำรวจรถไฟ คงตอบได้แค่ว่า “ยังไม่รู้”
ความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถไฟของประชาชนคงดูมืดมนไม่ต่างกับอนาคตของหน่วยงานตำรวจรถไฟ ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่า ยุบแล้วจะไปไหน?