วันนี้ (6 ธ.ค.2565) กลุ่มนักอนุรักษ์ตั้งคำถามกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "ไป กับ นก" โพสต์ภาพพานกไปท่องเที่ยวในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ยอดดอยท่องเที่ยวชื่อดังหหลายแห่ง โดยล่าสุดที่ดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่
เจ้าของเฟซบุ๊ก ระบุว่า แม่พาเดินเขาดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ มะนุดถามแม่ว่า นั่นนกจริงๆใช่ไหมนึกว่าตุ๊กตา”“น้องพูดได้ไหม” ของพ่อๆ แม่ๆท่านอื่นพูดได้มีความสามารถหลายอย่าง แต่ตัวนี้ไม่ทำอะไรเลยค่ะ เที่ยวได้อย่างเดียว
ด้านนายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เพราะตามหลักการในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และบางจุดมีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมด เพื่อป้องกันโรคระบาดจากสัตว์บ้านสู่สัตว์ป่า และคนที่นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้รับอนุญาตถือว่ามีความผิด
สัตวแพทย์ห่วงโรคระบาดสัตว์บ้านสู่สัตว์ป่า
ขณะที่ นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า จากภาพที่เห็นพบว่าเป็น "นกแก้วซันคอนัวร์" เป็นนกที่นิยมเลี้ยงมาจากนกแก้ว กลุ่มจากอเมริกาใต้ ซึ่งการนำนกที่เป็นสัตว์เลี้ยงเข้าในเขตป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และวนอุทยาน ถือว่าผิดระเบียบชัดเจน ซึ่งเป็นกฎสากลทั่วโลก และนักท่องเที่ยวควรเคารพกฎระเบียบ
นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวอีกว่า กรมอุทยานฯ มีระเบียบชัดเจนว่าห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าเขตอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเป็นสัตว์ชนิดไหน เหตุผลเพราะโรคจากสัตว์เลี้ยงจากบ้านจะไประบาดกับสัตว์ป่าในชนิดเดียวกันได้ เพราะสัตว์ป่าไม่ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกัน หรือหาหมอรักษาได้ ซึ่งกรณีของโรคจากสัตว์บ้านสู่สัตว์ป่ามีบทเรียนหลายกรณีทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น วัวแดง เป็นโรคลัมปีสกิน ในต่างประเทศ ในแอฟริกา สิงโต ป่วยไข้หัดสุขนัข
การที่มีนกแก้วเลี้ยงจากต่างถิ่น ไปในเขตอนุรักษ์ และในป่ามีนกแก้วป่า ขี้นกบ้าน จะอาจแบคทีเรีย หนอนพยาธิ หรือขนนกที่อาจมีเชื้อโรคหล่นลงและเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้
นอกจากนี้นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการระบาดจากกลุ่มสัตว์จะติดง่ายสุดในกลุ่มสัตว์ชนิดเดียวกันได้ เพราะนกแก้วที่เลี้ยงก็มีโรค และหลายโรคก็เป็นอะไรที่รักษาไม่ได้ ดังนั้นสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหมา แมว กระต่าย นกทุกชนิด หรือแม้ไก่ชน จึงห้ามเลย เคสที่เกิดขึ้นคงโทษเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพราะบางครั้งนักท่องเที่ยวก็แอบเอาใส่ใส่กระเป๋าไป ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ถ้าจะไปเที่ยวก็ไม่ควรพาสัตว์เลี้ยงไปในเขตอนุรักษ์ เขตรักษาพันธ์ วนอุทยานแห่งชาติ เพราะถ้ามีการแพร่โรคจะมีผลเสียมาก และไม่สามารถรับผิดชอบได้ และไม่ควรวัวหายล้อมคอก และไม่ควรเลียนแบบ
ภาพ: เฟซบุีก ไป กับ นก
เจ้าของเฟซบุ๊ก ยอมรับผิดจริงพานกเที่ยว
ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ น.ส.นา เจ้าของเฟซบุ๊ก ไป กับ นกว่า ปกติจะพาน้องซัน นกแก้วซันคอนัวร์ ตัวผู้อายุ 3 ปีที่เลี้ยงไว้ไปเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ และเดินป่า แต่สถานที่ที่ขึ้นไปมักจะเป็นของชุมชน และเป็นพื้นที่เอกชน เพราะน้องซัน ติดเจ้าของเคยฝากเพื่อนเลี้ยงไว้ น้องตรอมใจไม่กินเลยพาไปดอย
เคสล่าสุดบนดอยม่อนจอง ยอมรับว่าผิดจริง ไม่ได้อ่านข้อมูลอย่างละเอียด และพาน้องเข้าไปเที่ยว พร้อมที่จะเสียค่าปรับตามระเบียบ เพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูล แต่ยืนยันว่าปกติไปเที่ยวในพื้นที่ห้ามจะไปไม่พาเข้าไป
เช็กความผิดฝืนนำสัตว์เลี้ยงเข้าอุทยาน
ข้อมูลจากสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุข้อห้ามนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
มาตรา 20 บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
มาตรา 21 บุคคลใดนำหรือปล่อยสัตว์เข้าไปในอุทยานแห่งชาติต้องได้รับอนุญาติจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 47 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 20 หรือ มาตรา 28 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 21 มาตรา 22 หรือ มาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
มาตรา 48 ผู้ใดกระทำการตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 27 วรรคหนึ่ง โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดให้มีกรงรับฝากสัตว์เลี้ยง บริเวณทางเข้าอุทยานแห่งชาติ สำหรับให้บริการแก่นักท่องเที่ยว