ความคืบหน้ากรณีการรักษาลูกช้างป่าตัวเมียชื่อ "น้องธันวา" หลังได้รับบาดเจ็บในป่าลึกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี โดยเคลื่อนย้ายมารักษาที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี
วันนี้ (9 ธ.ค.2565) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ร่วมกันดูแล "น้องธันวา" อย่างใกล้ชิด
เบื้องต้นพบมีบาดแผลทั่วทั้งตัวนับไม่ถ้วน บอบช้ำ ซึ่งน่าจะเกิดการกระแทก และลื่นจนมีบาดแผลเต็มตัว ที่กังวลที่สุดคือสภาพกล้ามเนื้อ กระดูกเอ็น ฟกช้ำมาก เรียกว่าเอามือแตะตรงไหน หรือลูกช้างจะลุก จะยืน จะเดิน หรือนอนก็ระบมจนร้องเพราะความเจ็บปวด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทั้งนี้สันนิษฐานว่า น้องธันวา อาจตกมากระแทกจนฟกช้ำ ยังไม่ชัดว่าพลัดมากับน้ำหรือไม่ จนทำให้เกิดการพลัดหลงจากแม่และโขลง เพราะช่วงที่ไปเจอลูกช้างในพื้นที่ก็มีฝนตกหนัก
บาดแผลภายนอกทั่วร่างกายไม่น่ากังวล เพราะใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ แต่ที่น่าห่วงคือสะดือมีแผลอักเสบเป็นหนอง อีกทัั้งจากการประเมินอาการแล้ว ยังมีความกังวลในส่วนของค่าการสลายของกล้ามเนื้อ สภาวะที่อาจเกิดไตวายเฉียบพลันได้
อ่านข่าวเพิ่ม ใช้เฮลิคอปเตอร์ย้าย "ธันวา" ลูกช้างบาดเจ็บแม่ทิ้งป่าลึกมาบึงฉวาก
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ร่างกายขาดน้ำ-ห่วงไตวายเฉียบพลัน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวอีกว่า ลูกช้างธันวา ถึงแม้ตอนนี้จะกินนมได้ดี แต่เนื่องจากร่างกายขาดน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งแสดงอาการได้ชัดจากสภาพให้เห็นเนื้อซูบผอม เนื้อติดหนัง และเห็นหัวกะโหลก ประกอบกับผลตรวจเม็ดเลือดแดงอัดแน่น แสดงว่าเลือดข้น บ่งชี้ว่าแสดงว่าน้ำในร่างกายมีน้อย ทำให้ตอนนี้ต้องเร่งชดเชยสารน้ำ และวิตามินเข้าทางหลอดเลือดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
ปฏิบัติการครั้งนี้ ต้องชื่นชมการตัดสินของผู้ใหญ่ใน ทส. ที่ใช้อากาศยานในการเคลื่อนย้ายลูกช้างมารักษาใกล้หมอเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ร่างกายอ่อนแอโอกาสที่จะติดเชื้อได้
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ทั้งนี้กรมอุทยานฯ มีทีมสัตวแพทย์ 2 คนคือ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และ น.ส.ธนภัทร แย้มสุวรรณ สัตวแพทย์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากเขื่อนศรีนครินทร์อีก 3-4 คน ที่ดูแลเฝ้าอาการน้องธันวาตลอด 24 ชั่วโมง
โดยจะมีการป้อนนม เอาผ้าเช็ดตัว กางมุ้ง ดูแลอย่างใกล้ชิด สภาพเหมือนอยู่ในห้องไอซียู การประเมินก็ยังมีความหวัง ห่วงเรื่องไตอย่างเดียว ตอนนี้ทีมวางแผนการรักษาและดูแลน้องธันวาอย่างดีที่สุด
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ตารางการรักษา "น้องธันวา"
- ทำการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ และใต้ผิวหนัง
- ให้กินนมผงชนิด Enfalac ผสมยาขับลมชนิดไกรวอเตอร์ ทุก 2 ชม. เน้นกินน้อยแต่บ่อยครั้ง (กินปริมาณน้อยครั้งละ 300 มิลลิลิตร เนื่องจากกังวลสภาวะท้องอืดที่อาจจะเกิดตามมาได้ ถ้าให้ปริมาณมากเกินไปในแต่ละครั้ง
- ให้วิตามินบำรุงแบบฉีดใต้ผิวหนัง
- ให้เกลือแร่ ชนิด ORS แบบกิน
- ให้เดินออกกำลังกายบนสนามหญ้าแบบไม่หักโหม (เช้า-เย็น)
หวังผลกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อป้องกันอาการท้องอืด - ยังคงมีอาการถ่ายเหลว และมีเนื้ออุจจาระเล็กน้อย
- ยังไม่สามารถลุกขึ้นนั่ง หรือยืนเองได้ ต้องได้รับการพยุงตัว แต่พบว่าบางช่วงมีเรี่ยวแรงในการดันตัวเองขึ้นจากการนอนและเรี่ยวแรงการเดินที่ดีขึ้นจากเดิม
- ทำการเลเซอร์รักษาแผลบริเวณทั่วทั้งลำตัว และลดอักเสบแผลบริเวณสะดือ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ใช้เฮลิคอปเตอร์ย้าย "ธันวา" ลูกช้างบาดเจ็บแม่ทิ้งป่าลึกมาบึงฉวาก