วันนี้ (11 ธ.ค. 2565) อาสาสมัครเก็บขยะ ในโครงการพายเรือเพื่อบางปะกง Kayaking for Bangpakong นำโดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการโครงการฯ และประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมคณะ เริ่มต้นกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเป็นวันแรก ที่ จ.ปราจีนบุรี โดยตั้งเป้าหมายเก็บขยะจากต้นแม่น้ำบางปะกงจนถึงอ่าวไทย ดำเนินกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 10-18 ธ.ค.นี้
นายปริญญา กล่าวว่า ประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีกรมที่ทำงานเรื่องแม่น้ำ มีแต่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเท่านั้น เนื่องจากแม่น้ำทุกสายไหลลงอ่าวไทย ดังนั้น ขยะทั้งหลายจากแม่น้ำสายหลักก็ไหลลงอ่าวไทย สิ่งที่จะได้รับรู้จากกิจกรรมนี้ คือ ขยะในแม่น้ำบางปะกงมีมากหรือมีน้อย ภารกิจสำคัญไม่ใช่การเก็บขยะ เพราะเก็บอย่างไรก็ไม่หมด ถ้ายังมีคนทิ้งขยะ แต่ตั้งใจมาเก็บขยะเพื่อชวนคนไทยเลิกทิ้งขยะ
ถ้าคนบางปะกง เลิกทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี รวมถึงเจ้าพระยา
ที่ผ่านมาเราเคยจัดกิจกรรมเก็บขยะในระดับประเทศ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ในปี 2561 และ 2562 ในชื่อพายเรือเพื่อเจ้าพระยา สิ่งที่เกิดขึ้นคือตอนนั้นอันดับของไทยในการทิ้งขยะลงทะเล อันดับ 6 ของโลก ในฐานะประเทศที่ทิ้งขยะไปในมหาสมุทรมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าภูมิใจเลย
จากการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา 2 ครั้งนั้น ทำให้เราเห็นผลว่าไทยสามารถลดอันดับประเทศทิ้งขยะได้โดยถอยลงมาเป็นอันดับ 10 และเชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อเจอโควิด-19 คนหันกลับมาใช้ขยะพลาสติกมากขึ้น มีขยะเยอะขึ้น และทำให้เราตกอันดับแย่กว่าเก่าเป็นอันดับ 5 วันนี้เราจะมาแก้ไขด้วยกัน
นายปริญญา กล่าวว่า ขยะร้อยละ 80 ในอ่าวไทยมาจากแม่น้ำ 5 สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี และเป็นสาเหตุที่ไทยเป็นอันดับ 5 จากประเทศที่ปล่อยขยะมากที่สุดทั่วโลก ที่เหลือคือขยะที่ทิ้งทะเลสัดส่วนราวร้อยละ 20
ถ้าจัดอันดับแม่น้ำที่ปล่อยขยะมากที่สุดของไทย อันดับหนึ่งคือแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนอันดับสอง ใกล้เคียงกันระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำบางปะกง แม้ว่าเวลามองไปในแม่น้ำอาจไม่เห็นขยะมากนัก แต่มักติดอยู่ริมฝั่ง เมื่อน้ำขึ้นก็จะค่อย ๆ ไหลตามน้ำไป
สำหรับกิจกรรมการพายเรือเก็บขยะ เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เคยพายเรือไปยังอ่าวไทย ครั้งแรกเป็นการสำรวจพื้นที่เฉย ๆ แต่เหตุผลที่ทำให้ตั้งเป้าหมายพายเรือเก็บขยะ คือที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี พบว่า มีขยะถุงใหญ่ลอยอยู่ในน้ำ เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด จึงมีความคิดว่าปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้แล้ว จึงจัดกิจกรรมพายเรือเก็บขยะ เริ่มที่เจ้าพระยาและตั้งใจว่าจะกลับมาที่บางปะกง
วันนี้ชวนคิดว่า ทำยังไงให้ต้นแม่น้ำบางปะกงมีคนมาดูกัน และรับรู้ว่าจากตรงนี้ไปเราจะพายเรือผ่านปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ใช้เวลา 8 วัน เราพายกันวันละ 30 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีการนำขยะขึ้นฝั่ง คัดแยกและชั่งน้ำหนัก เราจะมาดูกัน เปรียบเทียบกับเจ้าพระยาว่า เราได้ขยะมากหรือน้อยกว่ากันแค่ไหน ความสำคัญคือเป็นการเชิญชวนให้คนเลิกทิ้งขยะ รวมถึงการไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ
นายปริญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีสัตว์ทะเลหายากตายเพราะขยะพลาสติกมากที่สุดในโลกอีกประเทศหนึ่ง ทั้งพะยูน เต่าทะเล วาฬ
เมื่อชันสูตรดูพบว่า มีขยะอยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้น โดยเฉพาะหลังเทศกาลลอยกระทง จะเจอขยะจากวัสดุประกอบ เช่น เข็มหมุด ตะปู ซึ่งจะลอยจากอ่าวไทยไปสู่ทะเล มหาสมุทร และทำให้สัตว์น้ำจำนวนมากต้องตายเพราะสิ่งเหล่านั้น
วันนี้เรามาที่แม่น้ำบางปะกง เพราะเป็นต้นน้ำจากแม่น้ำหลายสายที่มารวมกัน ต้นน้ำแห่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อชวนคนทั้งปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา มาร่วมใจกันชวนทุกคนให้เลิกทิ้งขยะ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการจัดการที่ดี ซึ่ง เป็นไปได้มากที่จะประสบความสำเร็จ ในการชวนคนสองจังหวัดนี้ ที่เป็นเจ้าสองแม่น้ำบางปะกงคนละครึ่งมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง
โมเดลที่เราจะทำครั้งนี้คือ เราผ่านไปทางไหนหน่วยงานในพื้นที่ จะเอาเรือมาลงด้วยกัน มาร่วมสำรวจแม่น้ำบางปะกงด้วยกันว่า บ้านไหนทิ้งขยะหรือปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ
การทิ้งขยะลงในแม่น้ำมีโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท มากกว่าการทิ้งบนบก 5 เท่า เพราะมันลอยไปและสร้างผลกระทบ เพราะน้ำเป็นทั้งแหล่งอาหาร พื้นที่ทำเกษตรกรรม แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ เราจะได้เห็นว่าตรงไหนเป็นปัญหา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ขยะไม่มีเราดีใจ ขยะอยู่ที่ไหนเราจะเก็บไปให้หมด
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการปฏิบัติการแก้ปัญหาขยะทะเล ซึ่งปีนี้เราใช้บูมทุ่นดักจับขยะที่ปากแม่น้ำทุกสายที่ไหลลงทะเล
ตอนนี้ตัวเลขอันดับหนึ่ง 660 ตัน อยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา อันดับสองคือแม่น้ำบางปะกง 414 ตัน เป็นตัวเลขจากการเก็บวิเคราะห์ประเมิน อันดับสามคือแม่น้ำท่าจีน 271 ตัน
ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะต้องร่วมกันดูแล โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการกำหนดโรดแมปไว้ว่า ภายในปี 2570 เราตั้งเป้าลดขยะลงสู่ทะเลร้อยละ 50 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ในช่วงที่โควิด-19 คลี่คลายลง ภาคส่วนต่าง ๆ กลับมาดำเนินการเช่นเดิม และสร้างมลภาวะมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงต้องสร้างการเติบโตโดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การทำงานครั้งนี้ไม่ใช่เก็บขยะเพื่อให้ได้เป้าหมาย แต่สิ่งสำคัญคือการหลอมรวมดวงใจของพี่น้องประชาชนทั้งต้นน้ำบางปะกงถึงปากแม่น้ำ เพื่อช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องชาวไทย ได้เห็นว่า มีคนกลุ่มนี้ได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมทะเลไทยของเรา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนหันกลับมาทำความดีและไม่ทิ้งขยะ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปบางปะกงที่ปากแม่น้ำก็พบว่ามีขยะเยอะมาก มีทั้งขยะในประเทศและนอกประเทศ ที่พัดเข้ามาตามคลื่นทะเล ขอให้พวกเราได้ช่วยกัน
ในแผนแม่บทขยะแห่งชาติที่กำลังเข้า ครม. ต่อไปจะมีการบังคับให้เกิดการคัดแยกขยะโดยเริ่มที่ท้องถิ่น จะออกเป็นกฎหมาย ข้อบัญญัติของท้องถิ่นบันคับให้คัดแยกขยะ เพราะเป็นจุดเริ่มต้องของการแก้ปัญหาขยะ คือการคัดแยะและนำขยะไปให้ประโยชน์ให้มากที่สุด 30 % คือขยะพลาสติก จาก 15 ล้านตันทั่วประเทศ เราสามารถไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึง 15 % เป็นส่วนที่จะเล็ดลอดลงไปสู่ทะเล พวกขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งเราตั้งเป้าว่าจะเลิกภายในปีนี้ แต่คงจะต้องขยับเป้าหมายออกไปก่อน และขอความร่วมมือต่อไป”
นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ และส่วนราชการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ กับการพัฒนา โดยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกโลก
สำหรับต้นน้ำบางปะกงมีที่มาจากการรวมตัวกันของสายน้ำแคว หนุนมาจากแก่งหินเพิงเขาใหญ่ มาบรรจบกับคลองพระปรง ที่มาจากสระแก้วและจันทบุรี รวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกงที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ต้นน้ำบางปะกงจึงเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ
ไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับทางน้ำต้องในในบริเวณนี้ เพื่อให้ระลึกว่าต้องร่วมกันอนุรักษ์แม่น้ำ เพื่อให้ประโยชน์แก่คนอีกจำนวนมากอยู่ท้ายน้ำ ทั้งชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม สวนเกษตรที่เลื่องชื่อ อย่างทุเรียน กระท้อน มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ในส่วนทางใต้ของจังหวัดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และมีสายน้ำที่ผ่านลงไปยังอ่าวไทย สายน้ำสายนี้ยังเป็นทางผ่านไปยังหลายพื้นที่
เมื่อท่านล่องเรือไปตามสายน้ำ ท่านจะเห็นความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตลอดทั้งสาย แม้ในจุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมก็ยังมีพื้นที่สีเขียว กิจกรรมในวันนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้ส่วนราชการจังหวัดต่าง ๆ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เห็นความร่วมมือของคนในพื้นที่
ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน แต่หากได้อนุรักษ์ทรัพยากรของพื้นที่พร้อม ๆ กับความยั่งยืนไว้ได้แบบนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่ผาสุก มีความอุดมสมบูรณ์ อากาศดี อาหารดี น้ำดี วันนี้มีคนจำนวนมากย้ายมาอยู่ที่ปราจีนบุรีสร้างมูลค่าทางการเงิน
ขอบคุณ เรื่อง-ภาพ จาก The Active