วันที่ 12 ธ.ค.2565 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก รายงานการดูแลรักษาช่วยเหลือ "ธันวา" ลูกช้างป่าพลัดหลง เพศเมีย หลังมีอาการป่วยและบาดเจ็บ โดยพบว่า ลูกช้างมีอาการอ่อนเพลีย ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง ไม่มีแรงลุกนั่ง-ยืน ต้องให้เจ้าหน้าที่พยุงตัวช่วย
ทั้งนี้ ได้ให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำและใต้ผิวหนัง ปรับเปลี่ยนสูตรการให้นม โดยให้กินน้ำต้มข้าวร่วมด้วย ปรับลดมื้อของการให้นมลง (รอดูผลการปรับเปลี่ยน) ให้ยาฆ่าเชื้อแบบกิน วิตามินแบบกิน ให้ยาลดกรดในระบบทางเดินอาหาร เข้าทางหลอดเลือดดำ
ลูกช้างป่า "ธันวา" มีอาการหอบหายใจในบางครั้ง โดยให้ออกซิเจนทุกครั้งที่มีอาการดังกล่าว พร้อมตรวจเช็คระดับกลูโคสในกระแสเลือดทุก 3 ชั่วโมง และเจาะเก็บเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ส่วนผลการตรวจเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้างชนิด EEHV ไม่พบเชื้อ
ทีมสัตวแพทย์สรุปว่า ลูกช้างป่ามีปัญหาระบบทางเดินอาหารในเรื่องของการดูดซึมของนมที่ให้การเจริญเติบโตของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ทีมสัตวแพทย์จึงปรับสูตรการให้นมใหม่ โดยให้น้ำต้มข้าวเพิ่มเติมทดแทน และตัดมื้อนมให้ลดลง เพื่อลดการถ่ายเหลว ซึ่งทำให้สัตว์สูญเสียอิเล็กโทรไลต์ มีผลอย่างมากต่อร่างกาย
ทั้งนี้ ในการรักษาของทีมสัตวแพทย์ ทีมสัตวแพทย์ได้ปรึกษาถึงอาการและแนวทางการดูแลรักษาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง (หน่วยงานภายนอกและภาคเอกชน) ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์, มูลนิธิพระคชบาล และโรงพยาบาลสัตว์เนินพลับหวาน พัทยา ส่วนทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ยังคงต้องดูแลลูกช้างป่า (ธันวา) อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ใช้เฮลิคอปเตอร์ย้าย "ธันวา" ลูกช้างบาดเจ็บแม่ทิ้งป่าลึกมาบึงฉวาก