สาเหตุการตายของสัตว์ทดลอง ส่วนใหญ่เกิดจากการทำการทดสอบภายในเวลาจำกัดและแรงกดดันจากกลุ่มผู้บริหาร เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อปัญญาประดิษฐ์กับสมองของมนุษย์ ที่อาจไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการที่อยู่ในภาพยนตร์แนว Sci-Fi อีกต่อไป
มัสก์ ประกาศพร้อมทดลองในมนุษย์อีก 6 เดือนข้างหน้า
หลังจากบริษัท Neuralink ของ อีลอน มัสก์ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองมนุษย์กับระบบคอมพิวเตอร์ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาชิปไร้สายเพื่อฝังในสมองมนุษย์ สะท้อนให้เห็นได้จากการแถลงข่าวของ มัสก์ เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม
มัสก์ กล่าวว่า Neuralink มีกำหนดจัดการทดสอบในมนุษย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หลังจากเลื่อนกำหนดมาแล้วถึง 2 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2019 โดยตั้งเป้าให้อุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทให้สามารถใช้สมองสั่งการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้
กรรมวิธีในการฝังชิปจะเจาะกะโหลกศีรษะให้มีขนาดเท่าชิปและฝังชิปลงไป เพื่อเชื่อมอุปกรณ์กับผิวสมองโดยตรง ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้ต้องใช้ความแม่นยำที่สูงมากในการฝังขั้วไฟฟ้ารับสัญญาณประสาทจากสมองลงไปทีละเส้น
บริษัทจึงสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ผ่าตัดฝังชิปในสมอง โดยเฉพาะและเริ่มทำการทดสอบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เผชิญเสียงวิจารณ์-ทรมานสัตว์เกินความจำเป็น
แม้ว่าการทดสอบประสิทธิภาพของชิปในสัตว์จะน่าพอใจแต่ Neuralink ต้องเผชิญเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการทรมานสัตว์ เนื่องจากการกดดันให้พนักงานพัฒนาอุปกรณ์ให้สำเร็จ ทำให้สัตว์ทดลองนับพันชีวิตต้องตายและทรมานโดยใช่เหตุ จนถึงขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับอนุมัติให้จัดการทดสอบในมนุษย์ได้ แม้ว่า มัสก์ จะกำหนดเงื่อนเวลามาแล้วหลายครั้งก็ตาม
ในขณะที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เปิดการสอบสวนบริษัท กรณีละเมิดกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจากรายงานพิเศษของสำนักข่าว Reuters พบว่า ตลอด 4 ปี Neuralink ได้ฆ่าสัตว์ทดลองกว่า 1,500 ตัว จำนวนสัตว์ทดลองที่ตายในการทดสอบสูงเกินความจำเป็น เนื่องจากบริษัทขาดการเตรียมความพร้อมที่ดีเพียงพอ
ความหวังของผู้ป่วย
เป้าหมายหลักของอุปกรณ์ชิ้นนี้คือ การช่วยผู้ป่วยพาร์กินสัน ความจำเสื่อม สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน รวมทั้งบาดเจ็บทางสมอง นอกจากนี้ยังจะช่วยให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับสมองได้ทันเวลา และยังสามารถติดตามสุขภาพผ่านทางไกลได้ในอนาคต
ในขณะที่โจทย์ท้าทายในการพัฒนาอุปกรณ์ชนิดนี้คือ ปัญหาด้านความปลอดภัย ศีลธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากการผ่าตัดฝังชิปในสมองมีความเสี่ยงสูงมาก หากอุปกรณ์ไม่พร้อมเพียงเล็กน้อยอาจทำให้สมองเสียหายได้
รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ร่างกายของผู้ป่วยบางคนอาจปฏิเสธชิป การประมวลผลของชิปผิดพลาด หรือชิปในสมองเป็นเป้าโจมตีทางไซเบอร์
แม้ว่าการพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคตแต่ในเวลานี้ยังเต็มไปด้วยคำถามและโจทย์ที่ท้าทายอีกมากมายรออยู่
วิเคราะห์โดย : พงศธัช สุขพงษ์