การก่อตั้งสภากาชาดไทยนั้นเริ่มตั้งแต่ข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ใน พ.ศ.2436 ครั้งนั้นมีทหารไทยต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากอันเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาเบื้องต้นอย่างทันท่วงที เป็นเหตุให้ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งโด่งดังในฐานะผู้เขียนตำราอาหาร "แม่ครัวหัวป่าก์" ได้ชักชวนบรรดาสตรีไทยช่วยกันเรี่ยไรเงินและสิ่งของเพื่อส่งไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และมีความเห็นว่าควรจะมีองค์การใดองค์การหนึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของทหารเช่นเดียวกับองค์การกาชาดของต่างประเทศ จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงเป็นชนนีบำรุง คือ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การเพื่อบรรเทาทุกข์ยากของทหารซึ่งก็คือ “สภาอุณาโลมแดง” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2436
กิจกรรมงานวันกาชาด ที่สถานเสาวภา พ.ศ. 2471 (ภาพจากสมุดภาพสภากาชาดไทย ภาค 1: คณะกรรมการและงานกาชาดยุคแรก, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ 1 2557)
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม พุทธศักราช 2461 และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2465 ได้มีการจัดงานกาชาดขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามโดยใช้ชื่องานว่า “งานรับประชาสมาชิก พ.ศ.2466” และจัดต่อเนื่องมาอีกหลายครา แต่ไม่ได้มีการกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้กำหนดเอาวันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นงานวันกาชาด เริ่มใน พ.ศ.2470 เป็นปีแรก ส่วนปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวันตามความสะดวกเหมาะสมยิ่งขึ้น
ด้านเครื่องหมายของกาชาดที่เป็นกากบาทสีแดงบนพื้นขาวนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาเจนีวา มาตรา 18 ยกย่องประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นเกียรติแก่ “อังรี ดูนังต์” ผู้ให้กำเนิดกิจการกาชาดสากลซึ่งเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง
ที่มา : สำนักทรัพย์สินและรายได้ Sarakadee Lite