นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไข “โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา โรคเชื้อราในใบทุเรียน และโรคเหี่ยวของกล้วยหิน โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรร่วมหารือ
ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรของจังหวัดยะลาเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ปี 2562 แต่เมื่อเทียบกับจังหวัดชุมพรที่มีขนาดใกล้เคียงกันพบว่ามีตัวเลขสูงกว่ายะลาเกือบ 4 เท่าตัว จึงต้องเร่งหาแนวทางในการสร้างมูลค่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ มีปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในสวนยางพาราและลุกลามไปยังสวนทุเรียน
นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เปิดเผยว่า ปัญหานี้ลุกลามไปในพื้นที่ 14 จังหวัด ประเมินความเสียหายได้ 400,000 ล้านบาท จึงอยากให้ สกสว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความรู้และงานวิจัยเข้ามาช่วยเหลือ
ด้าน ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. กล่าวว่า จะกลับไปพิจารณาแผนด้าน ววน.ในภาวะเร่งด่วนและหาแนวทางแก้ไข พร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง
เร่งพัฒนาพันธุ์ใหม่ให้พืชทนต่อโรค
ขณะที่ผู้แทนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ระบุว่าประเด็นเร่งด่วน คือ ต้องบริหารจัดการแปลงและทำให้พืชแข็งแรงทนต่อโรค ส่วนระยะยาวต้องวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของโรคและสภาพแวดล้อม เพื่อให้มีข้อมูลกลางแจ้งเตือนเกษตรกรให้สามารถป้องกันล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ และต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค เพื่อลดการกระจายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ
ในส่วนของนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้มุ่งใช้สารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย เนื่องจากยะลาเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แต่บางพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยการต่อการใช้สารละลาย จึงทดลองใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดเม็ด มีแปลงทดสอบที่ อ.กรงปินัง
ส่วนกล้วยหินได้รับงบประมาณจากอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนโดยเน้นการใช้งานที่ง่ายและปลอดภัย และมองภาพอนาคตว่าหากเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น อยากให้ใช้สารชีวภัณฑ์แบบบูรณาการโดยการจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหา
แนะใช้สารชีวภัณฑ์ฆ่าแมลง
ขณะที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ไฟป่าจากอินโดนีเซียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พืชอ่อนแอ และพบความผิดปกติของใบยางพาราที่ทำให้ใบร่วงทั้งสวน พร้อมศึกษาความผิดปกติในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ส่วนการแก้ปัญหาโรคเหี่ยวกล้วยหินมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิจัยค้นพบการแก้ปัญหาที่มีแมลงเป็นตัวนำแบคทีเรียในอากาศมาแพร่เชื้อ ทั้งการพัฒนาเครื่องดักแมลง เครื่องล่อแมลงนำโรคโซลาเซลล์ กับดักล่อแมลงด้วยฟีโรโมน พร้อมกับพัฒนาปลีกล้วยหินบันนังสตาปลอดโรคโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์ฆ่าแมลง พร้อมขอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนงบประมาณจัดทำเครื่องล่อแมลงให้กับเกษตรกร
ด้านตัวแทนเกษตรกร เห็นว่า ภาพรวมมีการบริหารจัดการทุกมิติค่อนข้างดี แต่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่ภูเขาสูงฉีดพ่นลำบาก จึงอยากให้มีระบบนิเวศการจัดการสวนที่ดี สิ่งที่เป็นไปได้คือการทำให้พื้นที่สวนมีความโปร่ง แสงลอดผ่าน อากาศถ่ายเทสะดวก ใช้วัคซีนพืชเข้าสู่ระบบรากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในลำต้นและรักษาหน้ายาง
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสารชีวภัณฑ์ หรือสอบถามการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ สามารถติดต่อได้ที่ ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา