ใกล้ถึงเวลาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองแล้ว ปัญหาความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องสำคัญที่กลุ่มภาคีเครือข่ายด้านอุบัติเหตุพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ในช่วงเวลานี้ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์กรอนามัยโลก หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุทางถนนเห็นว่า การกำหนดนโยบายเพื่อเลือกตั้งในปีหน้า อยากให้พรรคการเมืองบรรจุเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะผลักดันและใช้หาเสียง
เนื่องจากปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันละ 50 คน หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 20,000 คน และกลุ่มวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด
อ่านเพิ่มเติม : "5 ปี 5 แสนล้าน" สธ.เปิดตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางถนน
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า นโยบายแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เป็นนโยบายที่ไม่หวือหวาเหมือนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่หากสำเร็จจะสามารถรักษาชีวิตกลุ่มวัยทำงานที่มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศได้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบายแทบทั้งสิ้น
นโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ทุกพรรครับรู้และเข้าใจดี เพียงแต่นโยบายนี้ขายไม่ได้ ไม่แฟนซี
นพ.วิวัฒน์ ให้ข้อเสนอแนะเรื่องที่จะใช้เป็นนโยบายว่า ในระยะสั้นควรขับเคลื่อนนโยบาย หมวก เมา เร็ว ลดการเสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกนิรภัย รณรงค์ดื่มแล้วไม่ขับ และควบคุมความเร็ว มาตรการเหล่านี้จะลดการสูญเสียชีวิตคนไทยลงกว่า 12,000 คน พร้อมจัดตั้งสถาบันวิชาการความปลอดภัยทางถนน เพื่อสนับสนุนการวิจัยในการกำหนดนโยบายความปลอดภัยทางถนนของไทย และปรับใช้หลักการ Safe system approach ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุของประเทศให้เกิดความยั่งยืน
ไทยก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 แห่งความปลอดภัยทางถนน
นพ.วิวัฒน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไทยก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 แห่งความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายหลักในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยต้องลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 100,000 คน ภายในปี 2570
ขณะเดียวกันไทยยังมีแผนแม่บทหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ด้วย ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2565 - 2570 เป็นแผนที่ทำขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างจากแผนฉบับที่ 4 ที่ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชนและรถจักรยานยนต์มากขึ้น ลดพฤติกรรมเสี่ยงในการจัดการความเร็ว มีการกำกับติดตาม พร้อมทำตัวชี้วัดในระดับหน่วยงาน
องค์การอนามัยโลกประเมินการบริหารจัดการของไทย พบจุดอ่อนเยอะ เพราะไทยใช้รูปแบบของกรรมการ ให้รองนายกฯ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเป็นประธาน แต่ 5 ปีเปลี่ยนปลัดฯ ปีละ 1 คน การประชุมไม่ต่อเนื่อง ไม่บ่อย ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งเพื่อทราบ
นพ.วิวัฒน์ มองว่าการลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จะสำเร็จหรือไม่ ต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างสูงและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคีเครือข่าย
รวมทั้งต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง ด้วยการกำหนดหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง และตั้งสถาบันวิชาการเพื่อสนับสนุนการวิจัยในการกำหนดนโยบาย