วันนี้ (22 ธ.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก "อีลอน มัสก์" ก้าวขึ้นมากุมบังเหียนทวิตเตอร์ ไม่เพียงแต่ทำให้คนนับไม่ถ้วนหนีจากสื่อสังคมออนไลน์เจ้านี้แล้ว ยังทำให้หุ้นของเทสลา ซึ่งเปรียบเสมือนกระเป๋าเงินหลักของมหาเศรษฐีคนนี้ดิ่งลงมากกว่า 65% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนนักลงทุนต้องขอให้มัสก์กลับมาทุ่มเทให้กับการบริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลกเหมือนเดิม
อีลอน มัสค์ ตัดสินใจเปิดรับความคิดเห็นของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ โดยให้โหวตว่ามัสก์ควรจะลงจากเก้าอี้ผู้นำทวิตเตอร์หรือไม่ ซึ่ง 57.5% จากคะแนนโหวตทั้งหมดมากกว่า 17.5 ล้านเสียงสนับสนุนแนวคิดนี้ และเป็นที่มาของการคาดเดากันว่าใครจะมารับไม้ต่อ
คนแรก "จาเรด คุชเนอร์" สามีของลูกสาวโดนัล ทรัมป์ และอดีตที่ปรึกษาผู้นำสหรัฐฯ สมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดี คุชเนอร์ถูกมองว่าอาจกลายมาเป็นตัวเลือกม้ามืดของอีลอน มัสค์ ขณะที่มีภาพถ่ายตอนพวกเขาเจอกันที่กาตาร์ ระหว่างกำลังชมการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งหลังเจอกันไม่นาน มัสก์ก็เปิดโหวตลงจากเก้าอี้ทันที
นอกจากจะมีอำนาจในฐานะคนตระกูลทรัมป์แล้ว คุชเนอร์ยังมีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะกับเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล ผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์รายใหญ่อันดับ 2 ด้วย
ส่วน 2 คนนี้โอกาสที่จะได้รับเลือกมีน้อยมาก ทั้ง "เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน" อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่เปิดโปงข้อมูลลับสุดยอดของรัฐบาลอเมริกันเมื่อปี 2013 หากได้เป็นผู้บริหารทวิตเตอร์ก็อาจเผชิญกับความยากลำบาก เพราะขณะนี้สโนว์เดนอยู่ในกรุงมอสโกและได้สัญชาติรัสเซียแล้ว ซึ่งเขาบอกไว้แล้วว่าหากทำงานจะขอรับเงินเดือนเป็นบิทคอย
ขณะที่ "Snoop Dogg" แร็ปเปอร์ชื่อดังชาวอเมริกันก็ติดโผด้วย เขาเปิดโหวตแบบเดียวกับมัสก์ โดยตั้งคำถามว่าเขาควรจะบริหารทวิตเตอร์หรือไม่ ผลปรากฏว่าได้คะแนนสนับสนุนไปมากถึง 81% ชนะแบบขาดลอย แม้การเสนอตัวแบบขำๆ ในครั้งนี้เป็นเพียงแค่เรื่องสนุกและสร้างสีสันเท่านั้น แต่ก็เรียกเสียงตอบรับจากแฟนๆ ได้ไม่น้อย
ตัวเลือกที่มาพร้อมประสบการณ์ที่หลายคนมองว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม คือ "แจ็ค ดอร์ซีย์" ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO ของทวิตเตอร์ ซึ่งลาออกเมื่อเดือน พ.ย.2021 ซึ่งดอร์ซีย์เคยสนับสนุนให้มัสก์เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วย แต่โอกาสที่ดอร์ซีย์กลับมากุมบังเหียนทวิตเตอร์เป็นรอบที่ 3 อาจเป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะขณะนี้เขากำลังเดินหน้าสนับสนุนสื่อสังคมออนไลน์น้องใหม่อย่าง Bluesky Social ที่เขาปั้นขึ้นเองกับมืออีกหนึ่งแพลตฟอร์ม
ตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดตัวเลือกหนึ่ง คือ "ศรีราม คริชนาน" หนึ่งในคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนที่มัสก์เชื่อใจมากที่สุด มีประสบการณ์การทำงานทั้งในเมตา ไมโครซอฟต์ และที่สำคัญเคยทำงานกับทวิตเตอร์มาก่อน ปัจจุบันคริชนานกำลังลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านคริปโต ซึ่งหากมัสก์เลือกเขามานั่งเก้าอี้ผู้บริหาร น่าจะช่วยผลักดันไอเดียสร้างระบบจ่ายเงินสำหรับทวิตเตอร์ที่มัสก์วาดฝันเอาไว้ได้
ขณะที่ "เชอริล แซนเบิร์ก" กลายเป็นตัวเลือกผู้บริหารหญิงเพียงไม่กี่คนที่คาดว่าจะเข้าตาเจ้าของทวิตเตอร์ โดยเป็นอดีตมือขวาของ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" และเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของบริษัทเมตา แต่ลาออกไปตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. ดังนั้นจึงพร้อมทำงานทันทีหากได้รับเลือก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายชื่อที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้เท่านั้น แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาแทนอีลอน มัสค์ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อใจพนักงานที่หมดกำลังใจทำงานจากการบริหารงานของเจ้าของคนใหม่ และการเรียกความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ใช้งานให้กลับมาอยู่กับทวิตเตอร์อีกครั้ง หลังจากหลายคนผิดหวังกับนโยบายของสื่อสังคมออนไลน์เจ้านี้
อย่างไรก็ตาม มัสก์เคยบอกไว้ว่าแม้จะมีผู้บริหารคนใหม่ แต่เขาจะย้ายไปทำงานในทีมซอฟต์แวร์และเซอร์เวอร์ แทน ดังนั้นคนที่ได้นั่งเก้าอี้ CEO อาจหนีไม่พ้นแรงกดดันจากเจ้าของตัวจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อีลอน มัสก์" ทำโพลล์ ควรลงจากตำแหน่ง "ผู้บริหารทวิตเตอร์" หรือไม่
"อีลอน มัสก์" พร้อมลาเก้าอี้ CEO ทวิตเตอร์ หลังโพลล์โหวตเห็นด้วย 57%