ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัยสหรัฐฯ สร้างบ้านจากวัสดุรีไซเคิล ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

Logo Thai PBS
นักวิจัยสหรัฐฯ สร้างบ้านจากวัสดุรีไซเคิล ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์โครงสร้างและวัสดุผสมขั้นสูงของมหาวิทยาลัยเมน (The University of Maine Advanced Structures and Composites Center : ASCC) เปิดตัวโครงการไบโอโฮม 3 ดี (BioHome3D) ซึ่งนับเป็นการสร้างบ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติครั้งแรกจากวัสดุธรรมชาติทั้งหมด

การสร้างบ้านดี ๆ สักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทั้งวัสดุและแรงงานคนจำนวนมาก ในปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้างหลายประเภทและค่าแรงคนงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ที่อยู่อาศัยมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วยในหลายพื้นที่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมน (The University of Maine) ในสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาวิธีการสร้างบ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคาที่อยู่อาศัยให้มีราคาถูกลง

บ้านต้นแบบจากวัสดุรีไซเคิลในโครงการไบโอโฮม 3 ดี (BioHome3D) ตัวบ้านมีขนาด 600 ตารางฟุต ซึ่งประกอบไปด้วยพื้น ผนัง และหลังคา ผลิตวัสดุก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งวัสดุนั้นทำมาจากเส้นใยไม้ เรซินชีวภาพ หุ้มด้วยฉนวนที่ทำจากไม้ 100% โดยบ้านต้นแบบนี้ทำจากวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และยังเป็นการช่วยลดการใช้วัสดุคอนกรีตให้ลดน้อยลงด้วย

บ้านที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้น ไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนกับการสร้างบ้านทั่วไป เครื่องพิมพ์จะสร้างบ้านเป็น 4 โมดูลเพื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน โดยจะทำการย้ายไปยังสถานที่จริง ซึ่งจะใช้เวลาประกอบต่อตัวบ้านอีกประมาณครึ่งวัน และช่างไฟจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ชั่วโมงในการเดินสายไฟทั่วบ้าน

สหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยราคาถูก เนื่องจากแรงงานและวัสดุก่อสร้างมีราคาสูง ส่งผลให้มีคนไร้บ้านจำนวนมาก ดังนั้น การสร้างบ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จึงเป็นการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยให้แก่ประชากรในสหรัฐอเมริกาได้มากถึง 20,000 ยูนิต เพราะวัสดุและแรงงานในการก่อสร้างมีราคาถูกลง จึงทำให้คนสามารถซื้อบ้านที่มีราคาถูกได้มากขึ้น

ที่มาข้อมูล: umaine.edu, euronews, engadget, woodworkingnetwork
ที่มาภาพ: umaine.edu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง