เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ยานอวกาศโอไรออนได้เดินกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย หลังจากที่ได้ใช้เวลาเดินทางไปวนรอบดวงจันทร์ในภารกิจอาร์ทิมิส 1 (Artemis 1) เป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ในฐานะก้าวแรกของการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ภายใต้โครงการอาร์ทิมิส
อย่างไรก็ดี กว่าภารกิจอาร์ทิมิสครั้งที่ 1 จะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จ นาซาก็ได้พบกับปัญหาทางวิศวกรรมเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวของตัวจรวด จนต้องส่งผลให้ตัวจรวดต้องเลื่อนไปตัวไปมากว่าสองครั้งสองคราด้วยกัน จากกำหนดการเดิมว่าจะปล่อยช่วงเดือนสิงหาคมปี 2022 กลายมาเป็นกลางเดือนพฤศจิกายนแทน
โดยภารกิจอาร์ทิมิส 1 ของนาซานั้น มีจุดประสงค์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับเตรียมความพร้อมที่จะส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจถัดไป ซึ่งก็คือภารกิจอาร์ทิมิส 2 (Artemis 2) ที่จะมีการใช้ยานอวกาศโอไรออนลำเดิมสำหรับการโดยสาร เนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิตยานลำใหม่และค่าใช้จ่ายโดยรวมของนาซาได้
หากอ้างอิงตามสำนักงานตรวจสอบภายในของนาซา (NASA Office of Inspector General) ทางวิศวกรจะเวลาดำเนินการซ่อมบำรุงและเตรียมความพร้อมยานอวกาศเป็นเวลาประมาณ 27 เดือน ในขณะที่ตัวจรวดขนส่งก็กำลังอยู่ในกระบวนการผลิตในปัจจุบัน และจะดำเนินการทดสอบเครื่องยนต์ในปีถัดไป
เมื่อการเตรียมการทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการคัดเลือกนักบินอวกาศ 4 คนตามมาในภายหลัง โดยมีการกำหนดไว้ว่าลูกเรือ 3 คนจะต้องเป็นคนสัญชาติอเมริกัน ส่วนคนสุดท้ายจะเป็นคนสัญชาติแคนาดา
ซึ่งรูปแบบของภารกิจอาร์ทิมิสจะเป็นไปในลักษณะที่คล้ายกับภารกิจอาร์ทิมิส 1 ในการส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดยที่ไม่มีการลงจอดเหมือน ๆ กัน เพียงแต่รูปแบบของวงโคจรที่ใช้จะเปลี่ยนไป ทำให้นักบินอวกาศในภารกิจอาร์ทิมิส 2 จะใช้เวลาเดินทางไปกลับดวงจันทร์ราว 10 วันเท่านั้น
ภารกิจอาร์ทิมิส 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เรียกได้ว่ามีความใกล้เคียงกับภารกิจอะพอลโล 8 (Apollo 8) ที่ได้นำพานักบินอวกาศเดินทางไปวนรอบดวงจันทร์เมื่อปลายปี 1968 เช่นกัน ซึ่งภารกิจอาร์ทิมิส 2 จะกลายเป็นภารกิจแรกในรอบ 52 ปีที่จะส่งมนุษย์ออกเดินทางเลยวงโคจรระดับต่ำของโลกออกไป
ที่มาข้อมูล: NASA
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech