วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในอุตสาหกรรมการบิน ทำให้ รมว.คลัง เสนอ ครม.ลดอัตราจัดเก็บภาษีเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ให้บริการในประเทศ จากเดิมลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท และต่ออายุมาตรการคราวละ 6 เดือน เป็นเวลานาน 2 ปี
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2565 อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่ากรมสรรพสามิตได้เรียกประชุมตัวแทนผู้บริหารสายการบิน เข้าหารือแนวทางการปรับลดค่าโดยสารเครื่องบิน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ตามนโยบาย รมว.คลัง ซึ่งขอความร่วมมือให้ออกบัตรกำนัลส่วนลดค่าโดยสาร
หลังกระทรวงการคลัง ดำเนินมาตรการลดภาษีเชื้อเพลิงเครื่องบินต่อเนื่อง สูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท แต่การดำเนินการที่ผ่านมา กลับยังพบข้อร้องเรียนว่า ประชาชนต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงเช่นเคย
รายงานจากกรมสรรพสามิต ระบุว่าได้ประชุมกับตัวแทนผู้บริหารสายการบินไปแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยสายการบินขอเวลากลับไปพิจารณาแนวทางดำเนินการตามนโยบายรัฐ 2 เดือน และนัดหารือใหม่ ก.พ.2566
ทางด้าน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย รายงานว่าสถานการณ์ค่าโดยสารเครื่องบิน เส้นทางภายในประเทศ ไตรมาส 3 นั้นเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เนื่องจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน
โดยค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่เที่ยวละ 9,330 บาท เส้นทาง เชียงใหม่-สมุย และราคาที่ต่ำที่สุด อยู่ที่เที่ยวละ 899 บาท จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ ภูเก็ต-เชียงใหม่, ภูเก็ต-เชียงราย และภูเก็ต-อุดรธานี และยังพบปัญหาคิดค่าโดยสารสูงเกินเพดานกำหนด ได้แก่ เส้นทาง ดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม
พร้อมประเมินว่า ราคาค่าโดยสารสำหรับเที่ยวบินในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ตามความต้องการเดินทางในช่วงเทศกาลเพิ่มสูงขึ้น