ที่ผ่านมามีอุปกรณ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบสวมใส่ออกมามากมาย เช่น นาฬิกา แว่นตา ถึงแม้ว่าอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพเหล่านั้นจะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก กะทัดรัด แต่ก็อาจสร้างความไม่สบายตัวให้กับผู้สวมใส่ได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ในสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนารอยสักอัจฉริยะ ที่จะติดอยู่กับผิวหนังของมนุษย์ได้อย่างสบายและไม่รู้สึกรำคาญ ซึ่งสามารถนำมาใช้งานด้านสุขภาพได้
"รอยสักอัจฉริยะ" หรือ Skinkit Smart Tattoo มีศักยภาพในการทำงานที่เหนือกว่าความสามารถในการรับรู้ของเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ในปัจจุบัน และทำให้รู้สึกสบายขณะสวมใส่ ซึ่งนักวิจัยจาก ม.คอร์เนลล์ ได้คิดค้นอุปกรณ์ที่แนบสนิทไปกับผิวหนังอย่างรอยสัก แต่สามารถติดและถอดออกได้ง่าย และยังใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่การตรวจสุขภาพไปจนถึงแฟชั่น
อุปกรณ์สวมใส่แบบรอยสักอัจฉริยะนี้ เป็นระบบการทำงานแบบใช้ได้ทันที (Plug-and-Play) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความยุ่งยากในการใช้งาน ซึ่งได้รับการพัฒนา ทดสอบ และปรับปรุงใหม่มานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้นำมาใช้งานด้านการดูแลสุขภาพ
นักวิจัยได้พัฒนาวงจรไฟฟ้าที่ทรงพลังและทนทาน ซึ่งให้ความรู้สึกสบายเมื่อต้องสวมใส่ติดกับผิวหนังเป็นเวลานาน โดยแผ่นวงจรมีความบาง และยืดหยุ่นพอที่จะปรับให้เข้ากับผิวหนังได้
"รอยสักอัจฉริยะ" จึงมีลักษณะคล้ายแผ่นกระดาษซิลิโคนที่บางและยืดหยุ่น ซึ่งติดโดยตรงกับผิวหนังด้านหนึ่ง และติดกับชุดวงจรไฟฟ้าที่ตั้งโปรแกรมล่วงหน้าไว้อีกด้านหนึ่ง โดยชั้นซิลิโคนจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันระหว่างผิวหนังกับวงจรของอุปกรณ์ และเป็นตัวช่วยในการยึดรอยสักให้อยู่กับที่เมื่อผิวหนังยืดและหดตัว
ตัวอุปกรณ์เป็นโมดูลที่ประกอบด้วยแผงวงจรแบบบางและยืดหยุ่น และเชื่อมต่อด้วยโมดูลสายเคเบิล ซึ่งโมดูลเหล่านี้สามารถถอดและเปลี่ยนได้ง่าย และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ทำให้รอยสักอัจฉริยะมีคุณสมบัติเหนือกว่าอุปกรณ์สวมใส่อื่น ๆ เพราะสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ตามต้องการ ตั้งแต่การตรวจสุขภาพ การเข้าสังคม การฝึกกีฬา และแฟชั่น เป็นต้น
นักวิจัยจาก ม.คอร์เนลล์ เล็งเห็นประโยชน์ในการนำอุปกรณ์สวมใส่นี้ นำมาใช้งานร่วมกับศิลปะบนเรือนร่างและแฟชั่นจนออกมาเป็นรอยสัก จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอุปกรณ์สวมใส่ชนิดนี้ได้ไม่ยาก โดยอุปกรณ์นี้สามารถใช้งานได้หลากหลายตามความต้องการทั้งการตรวจสุขภาพ การฝึกกีฬา และแฟชั่น ตามแต่ความต้องการของผู้สวมใส่ในแต่ละวัน ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ที่มาข้อมูล: news.cornell.edu, newswise, freethink
ที่มาภาพ: news.cornell.edu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech