ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข่าวเด่นไทยพีบีเอส 2565 : แตงโมตกเรือเสียชีวิตสะท้อนความคิดสังคม

อาชญากรรม
28 ธ.ค. 65
19:58
1,966
Logo Thai PBS
ข่าวเด่นไทยพีบีเอส 2565 : แตงโมตกเรือเสียชีวิตสะท้อนความคิดสังคม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 ปีที่ผ่านมา คดีการเสียชีวิตของ "แตงโม นิดา" ถูกพูดถึง ตั้งคำถามบนเงื่อนงำต่าง ๆ แม้ประเด็นเรื่องคดีความกำลังเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล แต่อีกด้านหนึ่ง คดีนี้ ก็ทิ้งร่องรอยของเหตุการณ์ไว้ไม่น้อยบนเส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา

ไทยพีบีเอสกลับมาที่แม่น้ะเจ้าพระยาอีกครั้ง ไม่ใช่เพื่อให้จดจำ หรือย้ำเตือนว่าที่นี่เกิดความสูญเสีย และถูกกล่าวขวัญถึงจากคนเกือบทั้งประเทศเท่านั้น แต่เพื่อให้รู้ว่า ความสูญเสียจะเป็นบทเรียน เพื่อการป้องกัน และปลอดภัยจากแม่น้ำสายนี้

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้สัญจรทางน้ำ ในแต่ละวันมีเรือหลายประเภทแล่นผ่าน ซึ่งมีทั้งเรือขนส่งสินค้า เรือโดยสาร ท่องเที่ยว และใช้ประลองความเร็ว

กรมเจ้าท่าก็พยายามดูแล เพราะริมน้ำมันมีผลกระทบเวลาวิ่งเร็ว ๆ ลูกคลื่นก็ซัดเข้าบ้าน บ้านไหนโครงสร้างไม่ดีก็หลุด

การเสียชีวิตของแตงโมกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะผ่านมาเกือบหนึ่งปี แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำบอกว่า ยังพบร่างผู้เสียชีวิตลอยน้ำมา ติดตามท่าเรือ และข้างบ้านที่ริมน้ำเป็นประจำ

การเสียชีวิตของแตงโมถูกตั้งข้อสังเกต หลายประเด็น ไม่ว่าจะก่อนและหลังเสียชีวิต รวมทั้งการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ปิยะลักษณ์ ถิ่นแก้ว หัวหน้าชุดปฎิบัติการ มูลนิธิร่วมกตัญญู ระบุว่า เหตุการณ์วันนั้น ถูกนำไปเป็นบทเรียนการกู้ชีพ จัดเตรียมอุปกรณ์ การรักษาสถานที่เกิดเหตุ และการทำหน้าที่ให้ข้อมูลของผู้เห็นเหตุการณ์

วันที่ได้รับแจ้งแล้วไปถึงจุดเกิดเหตุ ข้อมูลความชัดเจนที่ส่งต่อให้เรา ไม่มี มีการให้ข้อมูลด้วยพยาน หรือคนที่รู้เหตุการณ์หลายปาก แล้วมีข้อมูลที่ขัดแย้ง ข้อมูลที่ไม่ตรง นี่คืออุปสรรคของทีมปฏิบัติการ แต่อย่างแรกข้อมูลไม่แน่นอน 

แม้ว่าสถิติการเกิดภัยทางน้ำจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ ยังเป็นสิ่งสำคัญ ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย ระบุว่า สิ่งจำเป็น คือ ต้องมีอุปกรณ์ชูชีพบนเรือทุกลำ ตามมาตรการที่กำหนด เพื่อยื้อชีวิตกลางแม่น้ำ รอการช่วยเหลือ ให้คนเหล่านั้นกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

คนเราถ้าจมน้ำ ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น ผมให้เต็มที่ไม่เกิน 2 นาทีก็จมน้ำแล้วเสียชีวิต ฉะนั้นการจะไปกู้ภัย ไม่มีกู้ภัยที่จะไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 5 นาที ครึ่งชั่วโมงถือว่าเร็วแล้ว ดังนั้น หากใส่เสื้อชูชีพเป็นการขยายเวลาให้กู้ภัยหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยได้

ปิยะลักษณ์ ถิ่นแก้ว หัวหน้าชุดปฎิบัติการ มูลนิธิร่วมกตัญญู ย้ำว่า ขวดน้ำพลาสติกขวดหนึ่งยังทำให้รอดได้ ไม้ไผ่ สิ่งที่เป็นก้านยาว ๆ เชือกโยนให้เขาดึง สิ่งเหล่านี้เล็ก ๆ น้อย ๆ ยังทำให้เขามีโอกาสรอดได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยด้วยกันควรมีความรู้ ถ้าไม่สามารถช่วยเหลือได้ ควรขอความช่วยเหลือ และคงไว้ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อให้ข้อมูลคนที่เข้ามาช่วยเหลือ นี่คือสิ่งสำคัญ 

ตลอดการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ เพื่อคลี่คลายสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.นิดา หรือแตงโม ถูกจับจ้องจากประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งคลิปวิดีโอจำนวนมากถูกเปิดเผย และมีรูปภาพ วงจรปิดที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ในคืนวันเกิดเหตุ ทำให้มีผู้ติดตามข่าวสารอีกไม่น้อย ถึงไม่เชื่อหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ อาจเป็นคำถามสำคัญ และเป็นเหตุผลให้คดีการเสียชีวิตของแตงโม ขยายวงกว้าง มากกว่าคดีอื่น ๆ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาฯ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กำลังติดตามคดีตู้ห่าว กลายเป็นนักสืบส่งหลักฐาน ถามว่าดีไหม มันดี แต่มันไม่ควรเป็นแบบนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำหน้าที่สมบูรณ์ เป็นที่เชื่อถือไว้ใจได้ ไม่ใช่ให้ประชาชนมาค้นหาหลักฐาน มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

ถ้าฝ่ายอัยการเข้ามา ฝ่ายปกครองเข้ามา ความเชื่อถือมันสูงกว่า ถ้ามีคน 3 คน ทำอะไรมิชอบก็ยากขึ้น ถ้าอยู่ในมือคน ๆ เดียว องค์กรเดียว ข้างบนสั่งอะไรคุณก็ตามนั้น แต่ถ้ามีหลายองค์กร เหมือนนิติบัญญัต บริหาร ตุลาการ ก็จะดุลกัน ใครจะทำอะไรพิลึก อีกฝ่ายก็ไม่ยอม ดังนั้น ประเทศที่เจริญเขาจะให้ฝ่ายปกครองเห็นหลักฐาน อัยการเห็นหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุ

คดีการเสียชีวิตของแตงโมอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 2 เดือนเต็ม จากนั้นส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี แต่มีการตีกลับสำนวนให้สอบสวนเพิ่มเติม ทำให้สำนวนคดีอยู่ในชั้นนี้ประมาณ 3 เดือน กระทั่งวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 6 คน ประกอบด้วย

นายตนุภัทร หรือปอ 5 คดี ข้อหาหลัก คือประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แจ้งข้อความอันเป็นเท็จฯแก่พนักงานสอบสวนฯ เสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท นายไพบูลย์ หรือ เบิร์ต 4 คดีข้อหาหลัก คือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

นายนิทัศน์ หรือจ๊อบ มี 3 คดี ข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และยังมีข้อหาทำลายซ่อนเร้น พยานหลักฐานฯ นางสาวอิจศรินทร์ หรือกระติก มี 3 ข้อเช่นกัน ทั้งประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แจ้งข้อความอันเป็นเท็จฯ แก่พนักงานสอบสวนฯ และทำลายซ่อนเร้น พยานหลักฐานฯ

นายวิศาพัช หรือแซน 1 ข้อหาหลักคือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 6 คือ นายภีม หรือเอ็ม มี 2 ข้อหาคือใช้ให้ผู้อื่นแจ้งข้อความอันเป็นเท็จฯ แก่พนักงานสอบสวนฯ และช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงฯ

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธในทุกข้อหา ศาลจังหวัดนนทบุรีตรวจพยานหลักฐานไปแล้วเมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายโจทก์อัยการจังหวัดนนทบุรีมีพยานบุคคล 138 ปาก วัตถุพยานต่างๆ อีก 68 รายการ ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีพยานบุคคล 40 ปาก ด้วยกัน

ศาลกำหนดสืบพยาน 48 นัด โดยนัดแรกคือ 2 มี.ค.2566 เริ่มจากสืบพยานฝ่ายโจทก์ก่อนซึ่งคาดว่า พยานปากแรกคือนางพนิดา ศิริยุทธโยธิน แม่ของแตงโม ส่วนนัดสุดท้ายกำหนดไว้คือ วันที่ 16 ส.ค.2567 ซึ่งหลังสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลก็จะพิจารณากำหนดนัดวันพิพากษาคดี ในชั้นต้นอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง