แพทย์ชาวอิตาลีเตรียม
นายวาเลรี สปิริโดนอฟ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวรัสเซียอายุ 30 ปี ซึ่งล้มป่วยโดยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดรุนแรงเปิดเผยว่าเขาจะเป็นคนไข้รับการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะ และเขาเพิ่งเดินทางกลับจากการเดินทางไปพบ นพ.เซอร์จิโอ คานาเวโร แพทย์ชาวอิตาลีในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผู้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะของเขาไปใส่ในร่างกายอันสมบูรณ์ของผู้ที่บริจาคมา ซึ่งตามแผนการแล้วการผ่าตัดจะเกิดขึ้นในปี 2017
นายวาเลรีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลี เมล์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ว่า เขาพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดเมื่อแพทย์ยืนยันว่ามันมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง
"ผมไม่ได้เสียสติ และไม่ได้เร่งวันเร่งคืนให้หมอมาตัดหัวผมออกไปใส่ในร่างใหม่ การผ่าตัดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อว่ามมันมีโอกาสที่จะสำเร็จสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์" นายวาเลรีกล่าวพร้อมกับเรียกร้องให้วงการแพทย์สนับสนุนและศึกษาในเรื่องนี้
"ผมไม่มีทางเลือกมากนัก (ที่จะรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดรุนแรง) ถ้าไม่ลองทางเลือกการรักษาใหม่ๆ ผมก็คงต้องตายในไม่ช้า อาการของผมแย่ลงทุกขณะ ผมรู้ดีว่าการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะมันเป็นเรื่องเสี่ยงมาก และผมก็คิดว่าผมอาจไม่มีชีวิตอยู่นานพอที่จะได้เห็นมันเกิดขึ้น"
แผนการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะให้ผู้ป่วย นพ.เซอร์จิโอ คานาเวโร ทำให้แพทย์ผู้นี้โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หมอได้รับเชิญไปบรรยายในการประชุมทางการแพทย์หลายแห่ง ซึ่งในการบรรยายในสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.เซอร์จิโอยืนยันว่าการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝัน พร้อมกับนำผลการศึกษาทางการแพทย์ที่มีการตีพิมพ์ในรอบ 50-100 หลายชิ้นเพื่อมาสนับสนุนว่าแผนการของเขานั้นเป็นจริงได้ แต่ถึงกระนั้นแพทย์หลายคนก็ยังตั้งคำถามว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้จริงหรือในทางการแพทย์ บางคนกล่าวหาว่าหมอคิดโครงการนี้ขึ้นเพราะอยากดัง แต่แพทย์อีกหลายคนก็คิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและมีโอกาสเป็นไปได้
หนังสือพิมพ์บัลติมอร์ ซัน ของสหรัฐฯ รายงานว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทในสหรัฐฯ คนหนึ่งเปรียบเทียบโครงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวของ นพ.เซอร์จิโอ กับการโคลนนิงแกะเมื่อปี 1996 เขาบอกว่า "เมื่อหลายปีก่อนไม่มีใครคิดว่าการโคลนนิงจะเป็นไปได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว"
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แนวคิดเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะมนุษย์เพื่อรักษาความความเจ็บป่วยน่าจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ค.ศ.1970 โดยนพ.โรเบิร์ต ไวท์ ที่ทดลองผ่าตัดหัวลิง โดยนำหัวลิงตัวหนึ่งมาติดที่ร่างลิงอีกตัวหนึ่ง ซึ่งการผ่าตัดประสบความล้มเหลวเพราะไขสันหลังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ลิงจึงตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีบันทึกการทดลองผ่าตัดเปลี่ยนหัวในสัตว์ทดลองอย่างหนูและสุนัขอีกด้วย
นพ.เซอร์จิโอยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการผ่าตัด แต่ระบุว่าเขาพร้อมที่จะเปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิคและปรึกษาหารือกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ