วันนี้ (1 ม.ค.2566) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธ.ค.2565) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์เกิดอุบัติเหตุ 466 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 467 คน เสียชีวิต 59 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.70 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.04 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.56 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.90 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.2 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 34.55
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01–19.00 น. ร้อยละ 7.74 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.39 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,878 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,205 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 424,745 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 67,203 คนมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 18,964 คน ไม่สวมหมวกนิรภัย 18,116 คนขับรถเร็วเกินกำหนด 8,497 คน
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 19 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 20 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 7 คน
3 วันอุบัติเหตุ 1,183 ครั้งเสียชีวิต 146 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29–31 ธ.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,183 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,182 คน ผู้เสียชีวิต รวม 146 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 18 จังหวัด
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี 42 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 46 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 10 คน
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (1 ม.ค.) ยังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ประชาชนยังคงเดินทางท่องเที่ยว และทำบุญตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงในพื้นที่ ศปถ.เน้นย้ำให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายกวดขันผู้ขับขี่ ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย
สำหรับการดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านชุมชนเข้มข้นการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่
รวมถึงเข้มข้นการดูแลเส้นทางสายรอง ที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและอำเภอ ซึ่งประชาชนใช้เป็นทางลัดออกสู่ถนนสายหลัก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้น