จักรวาลของเราช่างเป็นสถานที่ที่แสนกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยปริศนามากมายที่ยังคงรอให้มนุษย์อย่างเราได้ค้นพบ ซึ่งการศึกษาเรื่องราวของดวงดาวและวัตถุบนท้องฟ้าเบื้องต้น ส่วนใหญ่ก็ล้วนทำผ่านเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก
แต่ทว่าในปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินจำนวนมากก็กลับกระจุกตัวอยู่ประเทศฝั่งตะวันตก อย่างเช่นกล้องโทรทรรศน์ GTC ขนาดหน้าเลนส์ 10.4 เมตร ที่ตั้งอยู่ในประเทศสเปน และกล้องโทรทรรศน์ ELT ขนาดหน้าเลนส์ 39.5 เมตร ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่กลางทะเลทรายกลายอาตากามา ประเทศชิลี เป็นต้น
มหาวิทยาลัยปักกิ่งจากประเทศจีน จึงได้ประกาศแผนการสร้างกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินเป็นของตนเองบ้าง เพื่อไล่ตามการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์ให้เท่าทันชาติตะวันตก ผ่านโครงการสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถขยายหน้าเลนส์ตามต้องการได้
โครงการนี้มีชื่อเต็มว่า "Expanding Aperture Segmented Telescope" หรือ "EAST" โดยกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ จะถูกสร้างขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่งของมณฑลชิงไห่ (Qinghai) ซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 4,200 เมตร
ทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้วางแผนที่จะสร้างเลนส์กระจกรูปทรงหกเหลี่ยม 18 ชิ้นมาติดรวมกันในช่วงเฟสแรกของโครงการกล้องโทรทรรศน์ EAST โดยมีขนาดหน้าเลนส์กว้างราว 6 เมตร ภายในปี ค.ศ. 2024 ในลักษณะที่คล้ายกับ "กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์" อันโด่งดังขององค์การนาซา (NASA - National Aeronautics and Space Administration)
หลังจากนั้น ช่วงปี 2030 โครงการเฟสที่ 2 ก็เริ่มขึ้น โดยมีการอัปเกรดให้เป็นเลนส์ขนาด 8 เมตรขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยกระจกทรงหกเหลี่ยม ทั้งสิ้น 36 ชิ้น
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า “การศึกษาด้านดาราศาสตร์นั้น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและสังคมเป็นอย่างมาก” ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่าโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ EAST จะมีการใช้งบประมาณราว 2,400 - 2,900 ล้านบาท ด้วยกัน
ที่มาข้อมูล: SPACE.COM
ที่มาภาพ: Peking University
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech