วันนี้ (4 ม.ค.2565) เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สังคมอาจเข้าใจคาดเคลื่อนในคดีร้านจินหลิง ว่า ผบช.น.ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนนั้น ขอชี้แจงว่าตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2565 อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ตนเองเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีหน้าที่ลงนามทำความเห็นทางคดีในสำนวนการสอบสวน โดยสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนในสังกัด บช.น. บช.ก. บช.ปส. และ บช.สอท. และพนักงานอัยการที่ อสส.มอบหมาย จำนวน 12 คน
"ผมดูแลการสอบสวนด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ร่วมกับพนักงานอัยการ เพื่อให้งานขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วและรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนที่สุด ขอให้สื่อมวลชนและประชาชนมั่นใจในการสอบสวนคดีนี้ ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ผบช.น.ไม่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้แล้ว"
สอบพยาน 400 ปาก ออกหมายจับแล้ว 37 คน
คดีนี้มีการสอบพยานไปแล้ว 400 ปาก ยื่นคำร้องขอออกหมายจับจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ออกหมายจับแล้ว 37 คน มีทั้งข้อหาร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1, จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และ 4 สมคบยาเสพติดฯ และข้อหาฟอกเงิน จับกุมแล้ว 19 คน เหลืออีก 18 คน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2565 เป็นต้นมา มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีเรื่องนี้ทั้งหมด 114 คน(รวมคดีเสพ) คาดว่าจะสรุปสำนวนเสนออัยการสูงสุด ภายใน 2 สัปดาห์ และอัยการสูงสุดจะพิจารณาฟ้องคดีต่อศาลภายใน 20 ม.ค.นี้
ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงการทำคดีผับจินหลิง
ส่วนกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แถลงต่อสื่อมวลชนกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ ผบช.น.นั้น กรณีดังกล่าว ตร. ได้มีคำสั่งที่ 2/2566 ลงวันที่ 3 ม.ค.2566 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่ผ่านมามีส่วนใดบกพร่อง และทำให้คดีเสียหายหรือไม่ โดยแต่งตั้งให้จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ และมีข้าราชการตำรวจในสังกัดจเรตำรวจและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางร่วมเป็นคณะกรรมการ ให้ตรวจสอบเสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง และเพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม จึงเชิญพนักงานอัยการ ร่วมเป็นที่ปรึกษาและให้ข้อมูลประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ด้วย