กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นวงกว้าง หลังมีนักวิชาการออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการนำชื่อไปอยู่ในงานวิจัยต่างประเทศ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของชื่อในงานวิจัย
ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ
ข้อความส่วนหนึ่งจากโพสต์ของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. บนเฟซบุ๊ก ที่บอกเล่าเรื่องราวของธุรกิจสะเทือนวงการวิจัยนี้ โดยระบุว่า นักวิจัยบางคนไปอ่านงานที่อยากใส่ชื่อตัวเองใน Paper แล้วใช้เงินซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือ ผู้นิพนธ์ในงานวิจัย
ดร.อนันต์ ยังระบุอีกว่า การซื้อเช่นนี้ชื่อแรกบนงานวิจัยจะมีราคาค่อนข้างสูง ชื่อกลาง ๆ ก็จะถูกลงมา เมื่อมีจำนวนผู้แต่งครบ "งานวิจัยผี ๆ นี้" จะถูกส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งและสามารถนำไปอ้างผลงานทางวิชาการ หรือขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้
งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย
ขณะที่ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท
เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่
ด้าน รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เมื่อเข้าไปค้นหาชื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงในขณะนี้ พบประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว ระบุอีกว่า ชื่อของเขาปรากฏร่วมกับคนอื่น ๆ ในวารสารต่าง ๆ ไม่ได้มีเพียงบทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่ field ของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร Cryptocurrency เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความเป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม ฯลฯ
นี่แสดงว่าทำมานานแล้ว และน่าแปลกใจว่าไม่มีอับอาย แต่มีการโหลดบทความมาโชว์กันใน academia edu เลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เราจะไม่พบบทความภาษาไทยเกี่ยวกับเกษตร วิศวกรรม การเงิน คริปโตเคอเรนซี รัสเซีย อินโดนีเซีย ที่อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่นๆ ปรากฎในวารสารใดๆ ในภาษาไทย แม้แต่ชิ้นเดียว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อว.ชี้ผิดจริยธรรมร้ายแรง สั่งเร่งสอบปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง