ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รีไซเคิลขยะอาหาร ให้เป็น "บรรจุภัณฑ์" จากกากธัญพืช ลดโลกร้อน

Logo Thai PBS
รีไซเคิลขยะอาหาร ให้เป็น "บรรจุภัณฑ์" จากกากธัญพืช ลดโลกร้อน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สตาร์ตอัปสิงคโปร์ คิดค้นวิธีแก้ปัญหาขยะจากเศษอาหารที่ใช้พื้นที่ในการฝังกลบจำนวนมาก ด้วยการเปลี่ยนกากธัญพืชให้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร

ขยะจากอาหาร เป็นอีก 1 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ โดยในแต่ละปีจะมีอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน ต้องกลายเป็นขยะอย่างเปล่าประโยชน์ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 8 % ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ "ภาวะโลกร้อน" จึงมักมีการรณรงค์ให้มีขยะจากอาหารให้น้อยที่สุด รวมถึงการเปลี่ยน "ขยะจากอาหาร" ให้เป็น "ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร" ด้วยการรีไซเคิล เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทสตาร์ตอัปจากสิงคโปร์วางแผนจัดการปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยรีไซเคิลขยะจากอาหารมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่มีชื่อเรียกว่า "อัลเทอร์แพ็กส์" (Alterpacks) ซึ่งมีวัตถุดิบหลัก คือ "กากธัญพืช" ที่เหลือจากการผลิตอาหาร เช่น การผลิตเบียร์ โดยส่วนใหญ่กากธัญพืชนี้มักจะถูกนำไปใช้ทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือถูกกำจัดทิ้ง

ขั้นตอนการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร จะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนกากธัญพืชให้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร ด้วยการขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ ที่สามารถย่อยสลายได้ในครัวเรือน โดยกระบวนการเปลี่ยนกากธัญพืชให้เป็นภาชนะบรรจุอาหารนั้น คล้ายคลึงกับการผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตให้มีขนาดที่ต้องการด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งเป็นวิธีการรีไซเคิลกากธัญพืชเพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์อาหารออร์แกนิก 100 % และเป็นคำตอบให้กับการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า

บรรจุภัณฑ์อาหารจากกากธัญพืช ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (SFA) ว่ามีความปลอดภัย เหมาะสำหรับการสัมผัสอาหารโดยตรง โดยกากธัญพืชที่นำมาใช้ได้มาจากมอลต์และธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้กับช่องแช่แข็งและไมโครเวฟได้

บริษัทสตาร์ตอัปสิงคโปร์ได้ร่วมทุนกับนักลงทุนรายอื่น เพื่อเริ่มต้นการลงทุนสตาร์ตอัปด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในเอเชียแปซิฟิก พร้อมทั้งต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์แล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา

วิธีการนี้นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาขยะจากอาหารแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้อีกด้วย

ที่มาข้อมูล: alterpacks, techcrunch, technode, yahoo
ที่มาภาพ: alterpacks
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง