ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบ "เสือวิจิตร" ตายในป่าแม่วงก์ คาดเกิดจากต่อสู้แย่งอาณาเขต

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 66
07:05
897
Logo Thai PBS
พบ "เสือวิจิตร" ตายในป่าแม่วงก์ คาดเกิดจากต่อสู้แย่งอาณาเขต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ แจ้งพบเสือโคร่งตายในเขตอุทยานฯ แม่วงก์ ตรวจสอบฐานข้อมูลตรงกับ "เสือวิจิตร" ลำตัวมีบาดแผลจากรอยเขี้ยว-รอยเล็บสัตว์ คาดต่อสู้แย่งอาณาเขต สันนิษฐานสาเหตุการตายติดเชื้อจากบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือด

วันนี้ (14 ม.ค.2566) นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยถึงกรณีพบ "เสือโคร่ง" ตายภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร ว่า ได้รับรายงานจากอุทยานฯ แม่วงก์ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้งว่า พบเสือโคร่งขนาดโตเต็มวัย นอนนิ่งอยู่บริเวณริมลำห้วยในพื้นที่อุทยานฯ แม่วงก์ เมื่อเข้าตรวจสอบพบว่าเสือโคร่งตัวดังกล่างได้ตายแล้ว

การตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า บริเวณลำตัวและคอมีบาดแผลคล้ายถูกฟันเขี้ยวของสัตว์ป่ากัด มีร่องรอยเล็บของสัตว์ป่าขนาดใหญ่อยู่ทั่วลำตัว บริเวณข้อเท้าหน้าหัก มีแผลเน่าหลายจุด ตรวจสอบบริเวณรอบที่เกิดเหตุไม่พบสิ่งผิดปกติและบุคคลอื่นแต่อย่างใด โดยได้ขนย้ายเสือโคร่งออกมาจากที่เกิดเหตุไปยังที่ทำการอุทยานฯ แม่วงก์ เพื่อตรวจสอบสาเหตุการตาย เนื่องจากสัตวแพทย์ไม่สามารถเข้าตรวจพิสูจน์การตายของเสือโคร่งในพื้นที่เกิดเหตุได้ เพราะมีระยะทางที่ไกล

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) พร้อมเจ้าหน้าที่ ตรวจพิสูจน์เสือโคร่งที่ตาย พร้อมผ่าพิสูจน์ซาก พบว่า เป็นเสือโคร่งเพศผู้ ตัวโตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม อายุประมาณ 7-8 ปี ลักษณะภายนอก สภาพซากเริ่มเน่าเปื่อย ขนหลุดร่วงเป็นบางบริเวณ พบหนอนแมลงวันขนาดเล็กและขนาดใหญ่ คาดว่าตายมาประมาณ 3 วัน

พบบาดแผลลักษณะกลมและรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 ซม. ซึ่งเป็นลักษณะของบาดแผลที่เกิดจากรอยเขี้ยวสัตว์ทั่วลำตัว บริเวณหลัง ต้นคอ ขาหน้าและขาหลัง โดยบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง พบบาดแผลจำนวนมาก และพบบาดแผลเป็นทางยาวขนาดประมาณ 3-5 ซม. คล้ายบาดแผลที่เกิดจากรอยเล็บสัตว์ ข้อเท้าหน้าซ้ายหัก เปิดผ่าซากพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณที่มีบาดแผลเป็นสีดำคล้ำ ต่างจากบริเวณที่ไม่มีบาดแผล พบก้อนหนองแทรกตามกล้ามเนื้อ สันนิษฐานได้ว่าเกิดการติดเชื้อในบริเวณดังกล่าว

จากการตรวจสอบภาพถ่ายของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ ไม่พบรอยเลือดบริเวณที่เสือนอนตาย คาดการณ์ได้ว่า บาดแผลที่พบตามลำตัวของเสือโคร่งไม่ใช่บาดแผลสด สันนิษฐานสาเหตุการตายของเสือโคร่งได้ว่า เกิดการติดเชื้อจากบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือด ไม่ได้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นการตายตามธรรมชาติในระบบนิเวศ

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ระบุอีกว่า พิจารณาแล้วเห็นว่าซากเสือโคร่งที่ไม่เน่าเสีย ได้แก่ กระดูก ซึ่งมีคุณค่าสมควรแก่การเก็บรักษาไว้ เพราะเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในทางราชการและการศึกษาวิจัย จึงให้เก็บรักษาซากสัตว์ป่าไว้มิให้ทำลาย โดยวิธีการต่อกระดูกสัตว์

ในส่วนของซากอื่น ๆ ได้แก่ หนังและเนื้อ จะทำลายซากโดยวิธีการเผา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565 โดยเคร่งครัด

จากการพิสูจน์เปรียบเทียบลวดลายบนตัวเสือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จำแนกระบุยืนยันตัวเสือโคร่ง พบว่าเสือโคร่งมีรหัสข้อมูลตามโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF หรือชื่อ "เสือวิจิตร" ที่ข้อมูลสถานีวิจัยเขานางรำบันทึกไว้
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

จากข้อมูลวิจัย "เสือโคร่งวิจิตร" เป็นเสือหนุ่มอายุประมาณ 5 ปี เกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เริ่มมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในป่าอุทยานฯ แม่วงก์และคลองลาน ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และจุดสกัดแม่กระสา ตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 บริเวณนี้มีเสือตัวเมียประจำถิ่น มีสัตว์เหยื่อ เช่น กวางป่า ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่าหลายๆ จุด จึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูประชากรสัตว์กีบ เพื่อเพิ่มอัตราการแพร่พันธุ์ของกวางป่าในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2565-2566 ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริเวณใกล้เคียงยังมีเสือโคร่งตัวผู้ประจำถิ่นครองอาณาเขตอยู่ด้วย จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะมีการต่อสู้กันเพื่อแย่งการครอบครองอาณาเขตได้ อันอาจเป็นสาเหตุของการตายของเสือวิจิตรในครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เสือวิจิตร" ปักหลักบ้านใหม่ป่าตะวันตกฝั่งกำแพงเพชร-นครสวรรค์

"วิจิตร" เสือโคร่งหนุ่มป่าห้วยขาแข้งสลัดปลอกคอทิ้งแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง