ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เสรี" ยันไม่ได้เสนอแก้ รธน.วาระ นายกฯ 8 ปี

การเมือง
16 ม.ค. 66
14:55
164
Logo Thai PBS
"เสรี" ยันไม่ได้เสนอแก้ รธน.วาระ นายกฯ 8 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เสรี" ยันไม่ได้เสนอแก้ รธน.วาระ นายกฯ 8 ปี พร้อมชี้แจงเป็นเพียงข้อศึกษา และไม่ได้เอื้อต่อ "พล.อ.ประยุทธ์" คนเดียว

วันนี้ (16 ม.ค.2566) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนของวุฒิสภา เปิดเผยว่าในการประชุมกรรมาธิการในวันพรุ่งนี้ 17 ม.ค.2566 โดยหนึ่งในวาระการพิจารณาเรื่องรายงานการปฏิรูปประเทศและรายงานจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งประเด็นการแก้มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกฯต้องมาจาก ส.ส.และมาตรา 272 เกี่ยวกับยกเลิก ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ หรือ เรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยกล่าวย้ำที่จะศึกษาทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

นายเสรี ยืนยันว่า ประเด็นในการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เจาะจงหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเพียงประเด็นการศึกษา และนำสู่สาธารณะเพื่อแสดงความเห็นการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและประชาชน โดยยังไม่ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้

กระบวนการแก้ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่ายเพราะมีขั้นตอนตามที่เงื่อนไขกำหนดไว้ทั้งเสียงวุฒิสภาเห็นชอบ 1 ใน 3 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้านร้อยละ 20


นายเสรี ยังย้ำว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นแก้ยากและหากต้องการแก้ให้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยกันตกลงกัน สร้างความสามัคคีปรองดอง ในมวลหมู่การเมืองและประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

รวมถึง การเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากมีการพูดจาเสียดสีด่าทอให้ร้าย หรือเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลยซักประเด็นเดียว


ในกระบวนการของการจะแก้ให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นไปไม่ได้เลย ขอเกิดเป็นประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นที่สนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่เรียนด้วยความเคารพไม่ได้เสนอเพื่อจะแก้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เพียงผู้เดียว และก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่รู้พรรคไหนจะได้เสียง ส.ส. จำนวนเท่าไหร่


ประธานกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองฯ ของวุฒิสภา ยังเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และ คุณสมบัตินายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.ตามร่างแก้ของพรรคเพื่อไทยนั้น จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา

ทั้งนี้ เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เชื่อว่า ข้อเสนอนั้นเป็นประเด็นเป้าหมายสำหรับการหาเสียงของพรรคการเมือง สร้างความด่างพร้อยให้วุฒิสภา สร้างปัญหาให้รัฐบาล


นายเสรี ยังเห็นว่า เป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองหากจะนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแก้วาระ 8 ปีนายกฯ เป็นนโยบายหาเสียง เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก เพราะก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ

แม้นโยบายหาเสียงค่าแรง 600 บาท จะทำได้ในปี 2570 ก็ยังนำมาหาเสียงได้ อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรค และไม่ห่วงว่า ส.ว.จะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ย้ำว่าทำตามหน้าที่ 

มองว่าทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน และไม่ใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ประโยชน์คนเดียว เพราะหาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกก็สามารถที่จะเป็นได้ยาวเช่นกัน

พอเสนอประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในวาระ 2 ปี ขอเสนอประเด็นนี้ คนก็คิดว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็หยิบยกขึ้นมาเล่นงานเขา และเลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ ส.ส.กี่คนก็ไม่รู้ จะไปกังวลทำไมถ้ากังวลเท่ากับว่ากลัว หรือคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดหรอ

ทั้งนี้ นายเสรีกล่าวถึงหลักการแก้วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี กำหนดไว้เพื่ออะไร ซึ่งหลักก็คือเพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่เมื่อผ่านมาแล้วบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ก็เห็นปัญหาว่าการกำหนดเช่นนี้ หากมีคนดีมีความสามารถมีความรู้ และสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ก็ถูกจำกัดสิทธิตรงนี้ เราจึงเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง