วันที่ 16 ม.ค.2566 นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงที่มาของนโยบายสวน 15 นาที ว่า สิ่งที่ กทม.ให้ความสำคัญที่สุด คือ การคำนึงถึงการเข้าถึงสวนของประชาชน แม้ว่าในปัจจุบัน กทม.จะมีสวนขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและกิจกรรมมากมาย แต่ประชาชนยังเข้าถึงสวนได้ยาก หรือต้องขับรถไปไกล ถือว่ายังไม่ตอบโจทย์การเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
นโยบายสวน 15 นาที ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน คุณก็สามารถเดินถึงสวนได้ภายใน 15 นาที หรือ 800 เมตร
สำหรับการดำเนินการจัดทำสวน 15 นาทีนั้น เริ่มจากหาพื้นที่ว่างที่ยังไม่ใช้ประโยชน์ ขณะนี้ กทม.ต้องหาแนวทางที่จะเปลี่ยนเป็นสวนให้ได้ ในส่วนเป้าหมายตั้งไว้อย่างน้อยปีละ 30-40 แห่ง และสวนที่มี ต้องสอดคล้องกับจำนวนประชากรในพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่จำนวนประชากรหนาแน่น จำเป็นต้องมีสวนให้ได้เหมาะสมกับจำนวนประชากร ส่วนพื้นที่ที่จำนวนประชากรไม่มากนักก็อาจจะเป็นลำดับรองลงมา
ล่าสุด กทม.ได้ที่ดินที่สามารถเปลี่ยนเป็นสวนได้ 107 แห่ง เป็นที่ดินของ กทม. 42 แห่ง ที่ดินของเอกชน 27 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐวิสาหกิจ หรือกึ่งภาครัฐ เช่น การทางพิเศษ การรถไฟ รวมพื้นที่ 659 ไร่ ที่สามารถดำเนินการเปลี่ยนเป็นสวน 15 นาทีได้ โดยในปี 65 ที่ผ่านมา เปิดใช้แล้ว 13 สวน ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก โดย กทม.ตั้งงบประมาณไว้ปีละ 30 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนสำหรับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ การใช้พื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องของสุขภาพและสร้างความสุข จึงเชิญชวนประชาชนให้มาใช้พื้นที่สวนสาธารณะมากขึ้น โดยทาง กทม.ส่งเสริมการใช้สวนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ดนตรีในสวน หรือบางสวนสามารถนำสุนัข หรือแมว เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์ด้วยได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวนใกล้บ้าน-ลานอเนกประสงค์ "พื้นที่ปลอดภัย" สำหรับเด็กในกรุง
"สวนใกล้บ้าน" ความฝันของคนกรุง จะดีแค่ไหนถ้าไม่ต้องเดินทาง
ดึงเอกชนร่วมรัฐ สร้าง "สวนใกล้บ้าน" เพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมสุขคนกรุง