วันนี้ (23 ม.ค.2566) พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือที่เรียกกันว่ากฎหมาย JSOC ( Justice Safety Observation ad hoc Center ) จะมีผลบังคับใช้กับผู้พ้นโทษที่ทำความผิดคดีอุกฉกรรจ์ในฐานความผิดต่างๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเพศ กลุ่มชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพ (พวกเรียกค่าไถ่) ตามมาตรา 3
ประกอบด้วย คดีฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้ง การนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เพียง 13 วัน มีเหตุสลดเกิดขึ้น 2 คดี คดีแรกเกิดขึ้นใน จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2566 เกิดเหตุผู้ป่วยจิตเวช บุกเข้าไปทำร้ายนักเรียนชั้น ม.2 เสียชีวิต จากการตรวจสอบประวัติตำรวจพบว่า ผู้ก่อเหตุมีอาการทางประสาท และเพิ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำ
คดีที่ 2 ในพื้นที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 เกิดเหตุผู้ก่อเหตุพ้นโทษไม่ถึงปี นั่งดื่มเหล้าเมาแล้วหาเรื่องชาวบ้าน สุดท้ายเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร หรือ อส.เข้าไปห้ามไม่ให้มีเรื่องกับพ่อตัวเอง จึงถูกแทงดับ ตำรวจตรวจสอบประวัติพบเคยก่อเหตุฆ่าคนตายมาก่อนแล้ว 2 ศพ เพิ่งพ้นโทษออกมาปี 2565 ยังไม่ทันครบปี ก็มาก่อเหตุฆ่าศพที่ 3
ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า สถิตินักโทษเด็ดขาดที่เข้าข่ายมาตรา 3 ตาม พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ ปี 2565 ที่อยู่ในเรือนจำมีจำนวนทั้งสิ้น 17,807 คน แบ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ 5,683 คน ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 12,068 คน และความผิดต่อเสรีภาพ 56 คน
สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่เข้าข่ายมาตรา 3 ปี 2565 มีจำนวน 266 ราย ปี 2566 จำนวน 1,437 ราย และปี 2567 จำนวน 1,517 ราย โดยจะมีผู้ที่พ้นโทษได้รับการปล่อยตัวในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ม.ค.2566 จำนวน 29 ราย ในเดือน ก.พ. จำนวน 2566 จำนวน 103 ราย และเดือน มี.ค.2566 อีก 133 ราย
ขณะนี้กรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่คุมขังผู้พ้นโทษออกมา เริ่มนำร่องที่เรือนจำกลางคลองเปรม และหลังจากนั้นจะขยายไปภูมิภาค เช่น เรือนจำกลางพิษณุโลก เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี เรือนจำกลางระยอง และเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช
นพ.วีกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมคุมประพฤติ ตำรวจ ศาล และสำนักงานอัยการพื้นที่ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติการเฝ้าระวัง ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการติดตามผู้พ้นโทษที่เข้าข่ายเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปก่ออาชญากรรมหรือคดีสะเทือนขวัญซ้ำ เพื่อให้สังคมปลอดภัยจากบุคคลอันตรายให้มากที่สุด
สำหรับผู้พ้นโทษ หากพบเข้าข่ายมีพฤติกรรมเสี่ยงอาจกลับไปก่อเหตุซ้ำจะต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลอีเอ็ม ร่วมกับมาตรการเฝ้าระวังอื่นตามคำสั่งศาล เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายในพื้นที่เกิดเหตุ ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ห้ามเข้าเขตที่กำหนด ห้ามเดินทางออกประเทศ เว้นได้รับอนุญาตจากศาล ให้พักอาศัยในสถานที่กำหนดหรือสถานที่หลักเท่านั้น หรืออยู่ภายใต้การดูแลรักษาทางจิต ให้ปฎิบัติตามคำสั่งของสถานพยาบาลที่เข้ารับการบำบัด
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า การติดกำไลอีเอ็มกับผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เสี่ยงจะกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นกับดุลยพินิจของศาล มาตรการนี้จะไม่เกิน 10 ปี หรืออาจน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับผู้ถูกเฝ้าระวังว่ามีพฤติกรรมดีขึ้นหรือไม่ ยกเว้นชราภาพ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นผู้พ้นโทษสิ้นสภาพ อาจให้ญาติรายงานตัวแทน
ส่วนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากมีรายงานจากตำรวจ อาสาสมัครคุมประพฤติ หรือชุมชน รายงานเข้ามา อัยการในพื้นที่จะทำรายงานให้มีคำสั่งใช้มาตราการคุมขังฉุกเฉิน ให้ส่งตัวไปคุมขังที่กรมราชทัณฑ์ในเวลาไม่เกิน 7 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วให้ปล่อยตัว เพื่อให้คนเหล่านั้น คลายพฤติกรรมบางอย่างและลดการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งสังคมและผู้พ้นโทษจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทำให้สังคมปลอดภัย และผู้ถูกเฝ้าระวังได้ทบทวนตัวเอง
นพ.วีกิตติ์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับผู้พ้นโทษที่มีอาการป่วยจิตเวช และเสี่ยงที่จะกลับไปก่อเหตุทำผิดซ้ำ ศาลจะใช้ดุลยพินิจและกำหนดระยะเวลาว่าจะส่งไปบำบัดทางจิต หรือให้เข้ารักษาทางอายุรเวชตามโรงพยาบาล หรือถ้าไม่เกี่ยวกับอาการป่วยทางจิต จะสั่งให้คุมขังฉุกเฉินต่อไป
กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำทางเพศ เป็นความพยายามในการพลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมไทย และน่าจับตาว่า นับจากนี้ไป การก่อเหตุซ้ำของกลุ่มผู้เฝ้าระวังในคดีอุกฉกรรจ์จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่