ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยเตรียมส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศปีนี้

Logo Thai PBS
ไทยเตรียมส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศปีนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"รัชดา" รองโฆษกรัฐบาล ระบุไทยพร้อมส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในปีนี้ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของไทยในระดับ Industrial Grade

วันนี้ (26 ม.ค.2566) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 สู่อวกาศ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจดวงแรกของไทยในระดับ Industrial Grade จากผลงานของ 20 วิศวกรดาวเทียมไทยที่พัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) คาดว่าจะส่งดาวเทียมในปี 2566

การดำเนินงานของดาวเทียม THEOS-2 แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ

1. ดาวเทียมหลัก (THEOS-2) 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก (THEOS-2A) 1 ดวง แล้วเสร็จเรียบร้อย โดยดาวเทียมหลัก หรือ Main satellite ขนาด 425 กก. เป็นดาวเทียมที่สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 ซม. เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ ใช้งานด้านติดตามพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ งานด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ในภาวะวิกฤต

ส่วนของดาวเทียมเล็ก ขนาด 100 กก. เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกที่มีมาตรฐานในระดับ Industrial grade ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน โดยคาดว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวงจะขึ้นสู่วงโคจรในปีนี้

2. ศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test : AIT) ตั้งอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park – SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล รองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบและทดสอบดาวเทียม ตั้งแต่ Cubesat จนถึง Small Sat ในไทย และใช้ทดสอบดาวเทียม THEOS-2A ก่อนนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร

3. การพัฒนาแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ เน้นการผสมผสานของโซลูชัน (Integrated Solutions) ใน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรและความมั่งคงทางอาหาร, ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม, ด้านการจัดการภัยพิบัติ, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ, ด้านการวางแผนพัฒนาเขตเมือง และด้านความมั่นคง

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ เป็น 1 ใน 10 New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของไทย ที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง